xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.จ่อชง ครม.ตั้งบริษัทลูกสายสีแดง เดินรถพ่วงพัฒนาสถานียกเว้น “ดอนเมือง-รังสิต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.เร่งตั้งบริษัทลูกเดินรถสายสีแดงหลังบอร์ดไฟเขียว พร้อมชงคมนาคมและ ครม.อนุมัติ “วรวุฒิ” เผยมอบภารกิจบริหารเดินรถไฟสายสีแดงและสิทธิ์พื้นที่สถานีรายทาง ยกเว้น บางซื่อ, ดอนเมือง, รังสิต ร.ฟ.ท.ต้องบริหารเอง เหตุสถานีใหญ่และมีรถไฟความเร็วสูงจอด

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ได้เห็นชอบการจัดตั้งบริษัทลูกด้านบริหารสินทรัพย์ และบริษัทลูกรถไฟสายสีแดงแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำรายงานเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป

ทั้งนี้ ขั้นตอนในการจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ จำกัด จะทำได้เร็วกว่า โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สามารถพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ เช่น บางซื่อ แปลง A, กม.11, แม่น้ำ พหลโยธิน ได้เร็ว ซึ่งจะทำให้ ร.ฟ.ท.มีรายได้จากทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเร็วไปด้วย

สำหรับการจัดตั้งบริษัทลูกเดินรถไฟสายสีแดง ซึ่งจะอัปเกรด บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (ผู้บริหารการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์) ในปัจจุบันขึ้นมา โดยเพิ่มขอบเขตงานและทุนจดทะเบียนเป็น 3,000 ล้านบาทนั้นมีรายละเอียดมากกว่า จึงใช้เวลาจัดตั้งมากกว่า

ขณะที่วัตถุประสงค์ของบริษัทลูกสายสีแดง จะทำหน้าที่บริหารการเดินรถไฟสายสีแดง (Operator). และได้รับสิทธิ์ในการบริหารพื้นที่ของสถานีรายทางของสายสีแดง ยกเว้น สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีรังสิต ซึ่งเป็นสถานีใหญ่ และมีระบบรถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง จอด โดยสถานีใหญ่เหล่านี้ ร.ฟ.ท.จะดูแลเอง ซึ่งอาจจะมอบให้บริษัทลูกด้านบริหารทรัพย์สินฯ ดำเนินการ

“ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินภารกิจของบริษัทลูกสายสีแดง หลักการตอนนี้ บ.แอร์พอร์ตลิงก์ปัจจุบันจะต้องยุบภายใน 2 ปี ซึ่งในช่วงนี้จะมีการถ่ายโอนบุคลากรไปยังบริษัทเดินรถสายสีแดง ซึ่งต้องการบุคลากรประมาณ 600 คน”

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มรายได้จากการบริหารทรัพย์สินยังเป็นเป้าหมายหลักของ ร.ฟ.ท.แต่เนื่องจากต้องรอการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ ซึ่งจะเห็นเป็นรูปธรรมในอีก 1-2 ปี ดังนั้น จึงคาดว่าในปี 2562 รายได้ของรถไฟยังคงไม่เพิ่มมากกว่าปี 2561 มากเท่าใด.โดยปี 2561 คาดจะมีรายได้ประมาณ 9,000 ล้านบาท (เดินรถโดยสาร 4,000 ล้านบาท รถสินค้า 2,000 ล้านบาท ทรัพย์สิน 3,000 ล้านบาท) ประกอบกับรถไฟทางคู่จะทยอยแล้วเสร็จปี 2562 เช่น ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย แต่ยังไม่เห็นผลด้านการเพิ่มรายได้มากนัก เนื่องจากความจุของทางจะเพิ่มขึ้นเมื่อทางคู่ระยะแรกเสร็จหมดในปี 2566 ขณะที่ทางคู่เฟส 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 ซึ่งจะทำให้ปริมาณขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านตันต่อปี และผู้โดยสาร 80 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบัน 35 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า


กำลังโหลดความคิดเห็น