xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐเร่งขึ้นภาษียาเส้น หนุนไทยเดินหน้าลดจำนวนผู้สูบ 30% ตามเป้า WHO

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศจย.-สสส. และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ประสานเสียงชงรัฐบาลเร่งขึ้นภาษียาเส้นมวนเอง ชี้เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ต้องถูกควบคุมเช่นเดียวกับบุหรี่ซิกาแรต เพื่อผลักดันให้ลดการบริโภคยาสูบให้ได้ 30% ภายในปี 2568 ตามเป้าองค์การอนามัยโลก แนะต้องขึ้นภาษียาเส้นในอัตรา 2-5 เท่าต่อปีจากปัจจุบันที่อัตราภาษียาเส้นต่ำกว่าบุหรี่มวนประมาณ 10 เท่า

ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า นโยบายภาษียาเส้นของไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราการบริโภคยาสูบของคนไทยลดลงช้ามาก แม้ว่าจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติจะพบว่าอัตราการบริโภคยาสูบของประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เป็นผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในปี 2560 จะลดลงเหลือ 10.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.1 แต่ยังคงต้องใช้ความพยายามอีกมากเพื่อให้สามารถลดการบริโภคยาสูบให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2568 ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO)

“จะเห็นว่าสัดส่วนผู้สูบยาเส้นมวนเองมีประมาณครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคยาสูบทั้งหมด และยังคงอยู่ในอัตรานี้มาตลอดตั้งแต่มีการสำรวจ บางคนสูบทั้งยาเส้นและบุหรี่ซิกาแรต สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้และเห็นผลพอสมควรในการลดจำนวนผู้สูบลงได้ คือ การรณรงค์ด้านสังคมและการใช้มาตรการทางภาษีกับบุหรี่ซิกาแรต แต่มันจะดีขึ้นกว่านี้อีก ถ้ารัฐบาลจะขึ้นภาษียาเส้นให้มากกว่านี้ด้วย เพื่อให้ราคายาเส้นสูงขึ้นใกล้กับบุหรี่ซิกาแรต คิดง่ายๆ ว่ายาเส้นซองละ 6 บาท ขณะที่บุหรี่ราคาต่ำสุดตอนนี้ซองละ 60 บาท ราคาต่างกัน 10 เท่า ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้คนหันมาใช้ยาเส้นเป็นสินค้าทดแทนบุหรี่ เราจึงหารือและเสนอกระทรวงการคลังว่าปีนี้ควรเพิ่มภาษียาเส้น โดยอาจจะใช้อัตราเพิ่มภาษีเป็น 2 เท่าต่อปี ขึ้นภาษีทุกๆ ปี ทำตอนนี้ก่อนที่บุหรี่จะขึ้นราคาไปอีกในปีหน้า” ผู้อำนวยการ ศจย.กล่าว

ไทยตกม้าตายกับมาตรการภาษียาเส้น

ปัจจุบันอัตราภาษียาเส้นอยู่ที่ 0.005 บาทต่อกรัม ในขณะที่อัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรตอยู่ที่ 1.2 บาทต่อมวน (1 มวน = 1 กรัม) ศาสตราจารย์ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ผลกระทบจากการขึ้นภาษีบุหรี่ที่เห็นชัดตอนนี้ คือ ผู้สูบไม่เลิกสูบเพราะสินค้าราคาแพงขึ้น แต่หันไปหาสินค้าทดแทนที่มีราคาถูกกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเส้นที่ราคาถูกมากๆ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้

“มาตรการภาษีกับสินค้ายาสูบเป็นตัวควบคุมการบริโภคยาสูบที่ได้ผล ที่ผ่านมาไทยเราใช้มาตรการภาษีตามหลักสากลกับบุหรี่ซิกาแรตอย่างเข้มแข็งและมีแนวโน้มที่ได้ผลดี แต่เราก็มาตกม้าตายกับมาตรการภาษียาเส้น ซึ่งประเด็นนี้เราได้เสนอกันมาตลอดว่ากระทรวงการคลังต้องขึ้นภาษียาเส้นให้มากกว่านี้ แต่อย่างที่เห็นในขั้นแรกนี้ ตามกฎหมายใหม่ก็ใช้วิธีการรวมทุกคนที่เป็นผู้ผลิตมาเข้าระบบเสียก่อน การตั้งอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจึงยังต่ำมาก จุดนี้เป็นอุปสรรคใหญ่ของการควบคุมการลดการบริโภคยาสูบให้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย” ศาสตราจารย์ นพ.ประกิตกล่าว

มีข้อคิดเห็นที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันนี้จากองค์การระหว่างประเทศเกี่ยวกับระบบภาษียาเส้นในประเทศไทย ดังมีเอกสารรายงานเรื่อง WHO Report on The Global Tobacco Epidemic,2015 องค์การอนามัยโลกกล่าวถึงภาษีสรรพสามิตยาเส้นในไทยยังมีอัตราต่ำมาโดยตลอด และมีการยกเว้นภาษีสำหรับยาเส้นที่ผลิตจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมือง (ในขณะนั้น) ในทางตรงกันข้ามไทยกลับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ซิกาแรตหลายครั้ง ทำให้มีการบริโภคยาเส้นมากขึ้น นอกจากนี้ ในเอกสารรายงานเรื่อง Tax Policies on Tobacco Products in Thailand : The way Foreward,2011 องค์การอนามัยโลกระบุว่า จุดอ่อนประการหนึ่งของระบบภาษียาสูบในประเทศไทย คือ อัตราภาษียาเส้นยังต่ำอยู่ ซึ่งเป็นการบั่นทอนประสิทธิผลของนโยบายการควบคุมการบริโภคยาสูบ พร้อมทั้งเสนอให้ประเทศไทยขึ้นภาษียาเส้นเพื่อลดแรงจูงใจในการเปลี่ยนจากสูบบุหรี่ซิกาแรตมาสูบยาเส้นแทน

ทำไมยาเส้นจึงเป็นอุปสรรคที่จัดการได้ยาก

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสาเหตุที่ยาเส้นเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของภาคีเครือข่ายรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่เพื่อลดจำนวนผู้สูบว่า สสส.พยายามพูดคุยกับรัฐบาลเรื่องการขึ้นภาษียาเส้นมาตลอดหลายปี โดยหลักการก็ควรให้อัตราภาษียาเส้นทัดเทียมกับบุหรี่ “เราอยากให้เพิ่มภาษีอย่างน้อยๆ ก็ 5 เท่าจากอัตราปัจจุบัน หรือถ้าได้ถึง 10 เท่าก็จะดี คือเพิ่มภาษีเป็นระยะไป เพื่อให้ราคาสินค้าขยับใกล้กันมากกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดเราหวังว่า ราคายาเส้นควรจะขึ้นไปอยู่ที่ 30-40 บาทต่อซอง”

ผู้จัดการ สสส.บอกด้วยว่า นโยบายด้านราคาสินค้าที่สูงขึ้นมีส่วนสำคัญต่อการลดการบริโภคยาสูบลงได้ และให้ข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลขยับตัวช้าในเรื่องภาษียาเส้นอาจเป็นเพราะมีประเด็นด้านการเมืองเข้ามาเป็นปัจจัย เพราะประชากรที่สูบยาเส้นส่วนใหญ่เป็นคนในชนบทเป็นกลุ่มชาวบ้าน เกษตรกร ชาวสวนชาวไร่ อีกทั้งการสูบยาเส้นก็เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของพวกเขา

เป้าหมาย 30% ยังห่างไกลหากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือ

แม้อัตราการบริโภคยาสูบจะมีแนวโน้มลดลง แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะพบว่าการที่อัตราการบริโภคลดแต่จำนวนผู้สูบแทบจะไม่ลดลงเพราะมีปัจจัยด้านประชากรศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น จำนวนผู้สูบหน้าใหม่ก็เพิ่มขึ้นด้วย ศาสตราจารย์ นพ.ประกิตชี้ว่า ประเทศไทยยังเดินหน้าไปได้ไม่มากนักสำหรับการลดจำนวนผู้บริโภคยาสูบ ตั้งแต่เริ่มตั้งเป้าหมายปี 2554 ที่จะลดจำนวนผู้บริโภคยาสูบให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2568 โดยระยะเวลาที่ผ่านมา 7 ปี อัตราลดการบริโภคยาสูบของไทยโดยรวมยังลดลงได้ไม่ถึงร้อยละ 10 ซึ่งถือว่าช้ามาก เหลือระยะเวลาอีกครึ่งทางจากนี้ (7 ปี) เพื่อทำให้ถึงเป้าหมาย จำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน และประเด็นเรื่องการขึ้นภาษียาเส้น ควรเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องนำไปพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าลดการบริโภคยาสูบลงได้ตามเป้า ย่อมหมายความว่าไทยจะลดจำนวนผู้ป่วยเรื้อรังที่ป่วยด้วยโรคจากการสูบยาสูบลงได้ร้อยละ 25 เป็นการประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขปีละหลายหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น