ศจย.ออกโรงเตือนนักวิจัยไทยทั่วประเทศ อย่ารับทุนวิจัยจากบริษัท “บุหรี่” ชี้ ผิดกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ห้ามผู้ประกอบการให้การอุปถัมภ์
ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า วันที่ 9-10 ก.ค. นี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ศจย. และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบจะจัดประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 17 เรื่อง บุหรี่ทำร้ายหัวใจและหลอดเลือดสมอง จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมชมนิทรรศการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการโปสเตอร์ที่สามารถเข้าชมได้ฟรี
ทพญ.ศิริวรรณ กล่าวว่า ขอเตือนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่า ไม่ควรรับทุนจากบริษัทบุหรี่ เนื่องจากทราบมาว่า ขณะนี้มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้รับการติดต่อจากตัวแทนบริษัทบุหรี่ เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับทัศนคติ ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดต่างๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (บุหรี่ไฟฟ้า) และเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาที่บริษัทบุหรี่จะจัดขึ้น ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้แทนบริษัทบุหรี่ หรือองค์กรที่แอบแฝงของบริษัทบุหรี่ จะพัฒนาต่อไปจนถึงขั้นเกิดการให้ทุนสนับสนุนนักวิจัยไทยในการทำวิจัยในอนาคต ซึ่งจะถือเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 โดยมาตรา 35 ระบุว่า ห้ามผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้การอุปถัมภ์ หรือให้การสนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
1) เป็นการสร้างภาพลักษณ์ต่อผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2) ที่ส่งผลหรือที่อาจส่งผลต่อการแทรกแซงนโยบายการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 3) โฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ 4) ส่งเสริมการบริโภคยาสูบ ทั้งนี้ เอกสารภายในของบริษัทบุหรี่ที่ถูกเปิดเผยโดยศาลในสหรัฐอเมริการะบุว่าการสำรวจทัศนคติผู้คนต่อการสูบบุหรี่ ก็เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการตลาด ซึ่งเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. ควบคุมยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 35 ทั้งนี้ หัวข้อหนึ่งของการเสวนาในวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 เวลา 9.00-10.30 น. จะให้ความรู้ถึงเรื่องบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และ บุหรี่ที่ใช้ความร้อนแต่ไม่เผาไหม้ว่ามีอันตรายอย่างไร โดยคุณหมอ Kerstin Schotte เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ จากสำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลกด้วย