xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเอาเด็กไทยมาลอง “บุหรี่ไฟฟ้า” หลังวิจัยพบไม่ช่วยลดอัตราสูบบุหรี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอประกิต” เผย ผลศึกษาอังกฤษ พบ “บุหรี่ไฟฟ้า” - “นิโคตินทดแทน” ไม่ช่วยอัตราสูบบุหรี่ลดลง แต่ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้น 17% ในช่วง 10 ปี เตือนไทยอย่าผลีผลามใช้นโยบายบุหรี่ไฟฟ้ามาช่วยเลิกบุหรี่ หวั่นเยาวชนเป็นหนูทดลองเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณี “บุหรี่ไฟฟ้า” อาจไม่ได้ช่วยลดปัญหาการสูบบุหรี่ ว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงจริง โดยมีงานศึกษาวิจัยที่เผยแพร่ลงในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ (British Medical Journal) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา โดยคณะนักวิจัยจากศูนย์วิจัยมะเร็ง และพฤติกรรมสุขภาพ มหาวิทยาลัยลอนดอน ทำการติดตามพฤติกรรมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ในชาวอังกฤษอายุมากกว่า 16 ปี จำนวน 199,483 คน โดยมี 43,608 คน เป็นผู้เสพติดบุหรี่ ซึ่งการศึกษานี้ทำการติดตามระยะยาวตั้งแต่ปี 2549 - 2559 ถึงความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือการใช้ยานิโคติน (NRT) ช่วยเลิกสูบบุหรี่ กับการสูบบุหรี่ธรรมดาที่ลดลง หรือเลิกสูบชั่วคราว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ลดลงเล็กน้อยจาก 13.6% เหลือ 12.3% ในขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากที่เกือบไม่มีในปี 2549 ขึ้นมาเป็น 17.1% ในปี 2559 ทั้งนี้ การวิเคราะห์ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากับการลดลงของจำนวนมวนของบุหรี่ธรรมดาที่สูบต่อวัน เช่นเดียวกับการใช้ยานิโคตินช่วยเลิกสูบบุหรี่ ก็ไม่ได้ทำให้จำนวนมวนบุหรี่ธรรมดาที่สูบต่อวันลดลงในประชากรผู้สูบบุหรี่กลุ่มใหญ่ที่ติดตามเช่นกัน ผู้วิจัยสรุปผลว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือ นิโคติน ทดแทนรูปแบบอื่น ส่งผลให้การสูบบุหรี่ในอังกฤษในระดับประชากรภาพรวมลดลงน้อยมาก ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้สนับสนุนนักวิชาการฝ่ายที่กังวลว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจไม่ได้ช่วยลดปัญหาการสูบบุหรี่ในภาพรวมตามที่ฝ่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าเชื่อหรือกล่าวอ้าง

“จะเห็นว่า อังกฤษซึ่งใช้นโยบายเปิดกว้าง และสนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนการสูบบุหรี่ธรรมดา เพื่อลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ (Harm reduction) จนอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 17.1% ในช่วงเวลา 10 ปี แต่อัตราการสูบบุหรี่และจำนวนมวนบุหรี่ธรรมดาที่ผู้สูบบุหรี่สูบต่อวันไม่ได้ลดลง ขณะที่จำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าทั่วประเทศมีถึงประมาณ 2.9 ล้านคน การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยการติดตามข้อมูลการวิจัยจากประเทศต่างๆ ที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ควรผลีผลามให้เยาวชนไทยเป็นด่านหน้าทดลองการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า” ศ.นพ.ประกิต กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น