xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ชวน “ดารา” รีวิวไม่สูบบุหรี่แทนขายอาหารเสริม สร้างค่านิยมใหม่ อึ้งกินยาคุมพ่วงสูบบุหรี่ เสี่ยงหัวใจ-สมอง 7 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ.ชวน “ดารา” หันรีวิวไม่สูบบุหรี่ แทนขายอาหารเสริม สร้างค่านิยมดูดบุหรี่ไม่เท่ ทำลายสุขภาพ แพทย์ชี้บุหรี่ทำหัวใจ-สมองขาดเลือด เสี่ยงกว่าคนไม่สูบ 2 เท่า ผู้หญิงกินยาคุมพ่วงดูดบุหรี่เสี่ยงขึ้น 7 เท่า พบคนป่วยอายุน้อยลง

วันนี้ (9 ก.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย  รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา เลขาธิการสมาพันธเครือข่ายโรคไม่ติดต่อแห่งประเทศไทย และ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวภายในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 เรื่อง “บุหรี่ทำร้ายหัวใจและหลอดเลือดสมอง”

นพ.โอภาส กล่าวว่า บุหรี่ก่อให้เกิดพิษภัยต่อสุขภาพจำนวนมาก ทั้งการเกิดมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง รวมถึงทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง ถ้าสามารถควบคุมการสูบบุหรี่ให้ลดลงได้ ก็จะลดการเสียชีวิตของคนไทยลงไปได้มาก ซึ่งแนวโน้มการบริโภคยาสูบของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา จากปี 2534 มีจำนวน 12.26 ล้านคน หรือร้อยละ 32 ลดเหลือ 10.7 ล้านคน หรือร้อยละ 19.1 ในปี 2560 โดยการลดอัตราการสูบบุหรี่นั้นต้องใช้ความพยายามอย่างมาก และต้องใช้หลามาตรการ ทั้งมาตรการทางกฎหมาย เช่น การออก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ที่มีการควบคุมไม่ให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย ควบคุมการโฆษณา สถานห้ามสูบต่างๆ เป็นต้น มาตรการให้ความรู้ ให้คนที่ไม่สูบบุหรี่รู้พิษภัยและไม่สูบบุหรี่

นพ.โอภาส กล่าวว่า มาตรการทางสังคม เช่น การควบคุมสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการสูบบุหรี่ การปรับค่านิยมทัศนคติ ว่า การสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องเท่แบบสมัย 30 ปีก่อน อย่างภาพยนตร์หลายเรื่องที่มีพระเอกนางเอกสูบบุหรี่ ถือเป็นสิ่งแวดล้อมที่ช่วยกระตุ้น ตรงนี้ก็ต้องลดลง ซึ่งตนมองว่า ศิลปิน ดารานักร้อง และนักกีฬา ถือเป็นคนที่สังคมและเยาวชนเชื่อถือ เพราะหากไม่เชื่อถือดาราคงไม่สามารถรีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพแล้วมีคนเชื่อจำนวนมาก จึงมองว่า หากให้ศิลปินดารามารีวิวเรื่องการไม่สูบบุหรี่ ก็น่าจะช่วยปรับค่านิยมเรื่องบุหรี่ในหมู่เยาวชนได้ หรือการทำให้เป็นตัวอย่าง เช่น ขณะนี้มีการเดินหน้าเรื่องธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ เพื่อให้สุขภาพพระสงฆ์ดีขึ้น และพระสงฆ์เป็นผู้นำในการรณรงค์เรื่อสุขภาพ ซึ่งเรื่องบุหรี่ก็สามารถทำได้ โดยชาวบ้านเลิกการถวายบุหรี่แก่พระสงฆ์ เพราะไม่ได้บุญ แต่ได้บาป และเมื่อพระสงฆ์ไม่สูบบุหรี่ก็จะเป็นตัวอย่างแก่สังคมและรณรงค์ให้คนไม่สูบบุหรี่ได้ นอกจากน้ ยังต้องมีมาตรการเรื่องการจัดการ ซึ่ง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการยาสูบระดับจังหวัด ในการช่วยบังคับใช้กฎหมายในระดับพื้นที่ด้วย ซึ่งจังหวัดที่ดำเนินการได้ดี เช่น แม่ฮ่องสอน ที่เคยติด 1 ใน 10 จังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูง แต่การดำเนินการในระดับจังหวัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลหลุดจาก 10 อันดับสูบบุหรี่สูงสุดของประเทศไทยได้ เป็นต้น

ผศ.นพ.ครรชิต กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ว่า บุหรี่มีผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด จะรู้แค่ว่าทำให้เกิดมะเร็งปอดและถุงลมโป่งพอง ที่น่าห่วงคือ คนไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันปีละ 2 แสนคน โดย 1 ใน 5 มาจากการสูบบุหรี่ หากพิจารณาเฉพาะชายไทยอายุ 30-45 ปี ที่ตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า 50% มาจากการบุหรี่ ทั้งนี้ ปัจจัยในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สาเหตุมาจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง โรคอ้วน และการสูบบุหรี่ ซึ่งสารพิษในบุหรี่ เช่น นิโคติน คาร์บอนมอนอกไซด์ จะเข้าไปในร่างกายผ่านเส้นเลือด และไปในอวัยวะได้ทุกส่วน แต่หลักๆ คือจะทำให้ออกซิเจนถูกขัดขวางในการไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ และเกิดไขมันพอกเส้นเลือด ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดตีบ เมื่อเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อยลงก็จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย หากนิโคตินไปต่อมหมวกไต จะเกิดฮอร์โมนที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันสูงขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้น เกิดเลือดจับกันเป็นก้อน ซึ่งหากไปอุดตันที่สมอง ก็จะทำให้สมองขาดเลือดเฉียบพลัน เสี่ยงเสียชีวิตหรือพิการได้ โดยหลายงานวิจัยพบว่า คนสูบบุหรี่เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ 2 เท่า และยิ่งสูบบุหรี่มาก ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ที่บอกว่าแค่สูบ 1-2 มวนต่อวัน ก็เสี่ยงเช่นกัน แต่หากหยุดสูบบุหรี่ทันที จะช่วยลดความเสี่ยงลง โดยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดลงใน 6 เดือน และความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองใน 1 ปี และเลิกแล้วไม่ต้องทานยาเหมือนปัจจัยอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง

รศ.นพ.สมบัติ กล่าวว่า ขณะนี้พบคนป่วยโรคหลอดเลือดสมองอายุน้อยลง และไม่พบปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในการเกิดโรค ยกเว้น การสูบบุหรี่ โดยบางคนสูบตั้งแต่ก่อนอายุ 20 ปี พออายุ 30 กว่าปีก็เป็นโรคแล้ว ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนว่าคนสูบบุหรี่เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองกว่าคนไม่สูบถึง 2 เท่า และยิ่งผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดและสูบบุหรี่ด้วยยิ่งเสี่ยงขึ้น 7 เท่า เพราะยาคุมกำนิดทำให้เลืดอดหนืดข้นขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยงในการอุดตันมากยิ่งขึ้น การเลิกบุหรี่ที่ดีที่สุดคือการเลิกสูบทันที เพราะมีงานวิจัยชัดว่า บุหรี่ทำให้เส้นเลือดกลับมาโป่งพองใหม่ได และหากเส้นเลือดในสมองแตก อาจทำให้เสียชีวิต หรือพิการตั้งแต่อายุยังน้อย ต้องใช้ชีวิตด้วยความทรมานไปตลอดชีวิต

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า แม้สถานการณ์การสูบุหรี่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่สถานการณ์ควันบุหรี่มือสองยังน่าห่วง มีถึงร้อยละ 33.2 ยังมีการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ พบเห็นที่ตลาดสูงสุดร้อยละ 61.8 รองลงมาคือ ร้านอาหาร ร้อยละ 37.7 และสถานีขนส่ง ร้อยละ 25.5 โดย 2 ใน 5 ของผู้สูบบุหรี่มีการสูบบุหรี่ในบ้าน ทำให้มีผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านสูงถึง 17.3 ล้านคน เมื่อพ่อแม่สูบจะทำให้ลูกมีพฤติกรรมเลียนแบบ สสส.จึงสนับสนุนการลดละเลิก อาทิ โครงการต้นแบบบ้านปลอดบุหรี่ อสม.เลิกบุหรี่ 3 ล้าน 3 ปีฯ เป็นต้น





กำลังโหลดความคิดเห็น