องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกปรับอันดับการส่งเสริมและพัฒนา “นวัตกรรม” ของไทยดีขึ้น 7 อันดับ เพิ่มขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 44 ของโลกจากเดิมลำดับที่ 51 “สนธิรัตน์” ยันเดินหน้าสร้างปัจจัยแวดล้อมให้มีการพัฒนานวัตกรรมยิ่งขึ้น
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์แนลของสหรัฐฯ และสถาบันด้านการบริหารธุรกิจของสิงคโปร์ (INSEAD) เปิดเผยรายงานการประเมินผลดัชนีนวัตกรรมโลก (The Global Innovation Index : GII) ประจำปี 2561 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการจัดอันดับด้านการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมของ 126 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้ไทยได้รับการปรับอันดับดีขึ้นถึง 7 อันดับ จากอันดับที่ 51 มาเป็นอันดับที่ 44 ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ จากการประเมินตัวชี้วัด 80 ตัว ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย การเมืองและกฎหมาย ทุนมนุษย์และการวิจัย อินฟราสตรักเจอร์ สถานะทางการตลาด การดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ เทคโนโลยี และผลงานสร้างสรรค์ ที่จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านต่างๆ ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศผู้นำในหลายด้าน เช่น การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ (ไทยอยู่อันดับที่ 6) การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง (ไทยอยู่อันดับที่ 8 และการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร (ไทยอยู่อันดับที่ 11) และยิ่งไปกว่านั้น องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และหน่วยงานที่ร่วมจัดทำรายงานฉบับนี้ได้ระบุว่าไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาด้านนวัตกรรม
สำหรับประเทศที่อยู่ใน 10 อันดับแรกในการจัดอันดับครั้งนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน อังกฤษ สิงค์โปร์ สหรัฐฯ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เยอรมนี และไอร์แลนด์ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนมีเพียงสิงคโปร์ (อันดับที่ 5) ประเทศเดียวที่ติด 1 ใน 10 ประเทศผู้นำด้านนวัตกรรม รองลงมาคือ มาเลเซีย (อันดับที่ 35) ไทย (อันดับที่ 44) และเวียดนาม (อันดับที่ 45) ตามลำดับ
“การเติบโตทางเศรษฐกิจมีผลเชื่อมโยงกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากหลายประเทศที่ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวนั้นมาจากแนวโน้มที่ลดลงในการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนา ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นปัจจัยในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในด้านการส่งเสริม การคุ้มครอง การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ และการป้องกันและปราบปรามการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ตลอดจนการมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม และการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา” นายสนธิรัตน์กล่าว