xs
xsm
sm
md
lg

CIMBT คาด กนง. ขึ้น ดบ. ต้นปีหน้า-รอ ศก. ฟื้นทั่วถึง-กระทบต้นทุนน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. (ฉบับย่อ) ที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ทาง กนง. กำลังพิจารณา “ขึ้นดอกเบี้ยเมื่อพร้อม” นั้น หมายถึงหากเศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และแนวโน้มเงินเฟ้อสามารถอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น ความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะเริ่มลดลง และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสร้าง policy space (ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยที่สามารถลดลงได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว)ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม จากเศรษฐกิจไทยที่เปรียบเสมือนร่างกายมรายังไม่แข็งแรงเต็มที่ โดยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยรอบนี้มีความเหลื่อมล้ำสูง คือ กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก คนรายได้น้อยระดับฐานรากโดยเฉพาะภาคเกษตรไม่ได้มีการเติบโตของรายได้ที่ดี ทั้งยังมีหนี้ครัวเรือนสูง หากภาระรายจ่ายด้านดอกเบี้ยขยับขึ้น เงินที่เหลือไว้ใช้จ่ายอื่นๆ ก็มีแนวโน้มลดลง แล้วกำลังซื้อคนส่วนใหญ่ของประเทศจะสดใสได้อย่างไรภายใต้สภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะดูดีก็ตาม

ดังนั้น สิ่งสำคัญก่อนการขึ้นดอกเบี้ยคือ เศรษฐกิจไทยจะต้องเติบโตอย่างทั่วถึง ซึ่งทางเราคาดว่า อย่างน้อยก็น่าจะอีก 6 เดือนก่อนที่ราคาสินค้าเกษตรจะขยับขึ้น และมีเสถียรภาพช่วยให้รายได้ภาคเกษตรดีขึ้น อีกทั้งรายได้นอกภาคเกษตรน่าจะเติบโตดีขึ้นหลังเอกชนเร่งลงทุน ขยายชั่วโมงการทำงาน ซึ่งน่าจะเห็นกำลังซื้อกระจายตัวไปต่างจังหวัด และทุกภาคส่วนมากกว่าในปัจจุบันที่กระจุกอยู่ในเขตเมือง และกลุ่มธุรกิจเพียงไม่กี่สาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวในเมืองหลัก

นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า กลับไปประเด็นที่ว่าเราต้องมี policy space แค่ไหนถึงจะรับมือกับวิกฤตได้ ลองคิดเล่นๆ นะครับว่า ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปี 2563 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า ประเมินจากเหตุการณ์ซ้ำรอยวิกฤตปี 2551 ที่รอบนั้น กนง. ลดดอกเบี้ยลงรวมทั้งหมดร้อยละ 2.50 จากระดับร้อยละ 3.75 ในเดือนพ.ย. 51 ถึงระดับร้อยละ 1.25 ในเดือน เม.ย. 52 ดังนั้น จากดอกเบี้ยระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 1.50 กนง. จะต้องขึ้นดอกเบี้ยให้ได้อีกร้อยละ 2.25 เพื่อว่าเวลาลดดอกเบี้ยแล้ว ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.25 ซึ่งนับว่ายากมากในการขึ้นดอกเบี้ยขนาดนั้นจากภาวะปัจจุบัน หรืออีกทางเลือกหนึ่งคงจะเป็นการลดระดับดอกเบี้ยขั้นต่ำ คือ อนุญาตให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่าระดับร้อยละ 1.25 ได้ในช่วงวิกฤต หรือหา floor ใหม่ แต่จะเป็นเท่าไรนั้นก็แล้วแต่ดุลยพินิจของ กนง. ซึ่งอาจเป็นร้อยละ 0.50 ก็ได้ เท่ากับกนง. จะต้องขึ้นดอกเบี้ยไปอีกร้อยละ 1.50 หรือขึ้นดอกเบี้ยครั้งละร้อยละ 0.25 ถึง 6 ครั้ง ซึ่งน่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้โดยไม่กระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากนัก

“ที่สำคัญทาง กนง. อาจต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจนในการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อป้องกันความผันผวนในตลาดการเงิน ผมมองว่า ดอกเบี้ยที่จะขยับขึ้นก็ไม่น่ากระทบกับต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ และครัวเรือนมาก เพราะเป็นการขึ้นช้า ขึ้นน้อย และขึ้นชัดเจน สิ่งสำคัญ คือ เมื่อเรากำลังเผชิญกับเศรษฐกิจที่กำลังโตได้ดี อย่าลืมนึกถึงวิกฤตในวันข้างหน้าไว้ด้วย เพื่อให้เราไม่ชะล่าใจ ใช้จ่ายเกินตัว หรือก่อหนี้ที่โตเร็วเกินรายได้มากไป”

โดยสรุป การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าก็ภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 62 ไม่น่าจะกระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากนัก เพราะเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวต่อเนื่อง และมีการกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งเอกชนจะปรับตัวได้ในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น