xs
xsm
sm
md
lg

ยันฮี โซล่าฯ ยันไม่ทิ้งธุรกิจไฟฟ้า รุกขยายธุรกิจเชื้อเพลิงอัดแท่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ยันฮีโซล่า เพาเวอร์” ยันไม่ทิ้งธุรกิจไฟฟ้า หลังขายหุ้นที่ถือในโรงไฟฟ้าโซลาร์ 59 เมกะวัตต์ให้แก่ บี.กริม เพาเวอร์ ยันยังมีโรงไฟฟ้าในมืออีกราว 100 เมกะวัตต์ โดยเงินที่ขายหุ้นโรงไฟฟ้านำมาขยายโรงงานผลิต wood pellet เพิ่ม

นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ไม่มีแผนจะทิ้งธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากที่ขายหุ้นในโรงไฟฟ้า บี.กริม ยันฮี เพาเวอร์ กำลังผลิต 59 เมกะวัตต์ ให้ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) คิดเป็นมูลค่า 600 ล้านบาท เมื่อเร็วๆ นี้

โดยบริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีกหลายโรง คิดเป็นกำลังการผลิตที่เหลือราว 100 เมกะวัตต์ ลดลงจากต้นปีนี้ที่เคยมีกำลังผลิตอยู่ที่ 159 เมกะวัตต์ โดยไม่มีแผนจะขาโรงไฟฟ้าดังกล่าวออกไป

ส่วนสาเหตุที่ขายหุ้นที่ถืออยู่ 51% ในโรงไฟฟ้า บี.กริม ยันฮี เพาเวอร์นั้น เพื่อนำเงินมาลงทุนขยายโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแท่งอัดเม็ด (wood pellet) เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 500 ตัน เป็น 2.5 หมื่นตัน/เดือน ที่จังหวัดนครปฐม ใช้เงินลงทุนรวม 800 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 รองรับความต้องการใช้เชื้อเพลิงแท่งอัดเม็ดในโรงงานอุตสาหกรรมแทนการใช้ถ่านหิน และน้ำมันเตา เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่ให้ความร้อนสูงและเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด โดยต่างประเทศทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นำเข้า wood pellet เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทฯ จะผลิต wood pellet แต่ก็ไม่มีแผนที่จะต่อยอดไปสู่การลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล เนื่องจากต้นทุน wood pellet จะสูงกว่าการใช้เชื้อเพลิงประเภทไม้สับ หรือ wood chips

ปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงแท่งอัดเม็ดในไทยยังมีราคาไม่สูงอยู่ที่ 3.2 พันบาท/ตัน แต่เชื่อว่าแนวโน้มการใช้เชื้อเพลิงแท่งอัดเม็ดจะเพิ่มสูง ทำให้ราคาขยับตัวเพิ่ม โดยกำลังการผลิตส่วนขยายนี้บริษัทเน้นจำหน่ายในประเทศไทยทั้งหมด โดยยังไม่มีแผนทำตลาดส่งออก ขณะที่วัตถุดิบในการผลิต wood pellet นั้นจะมาต้นยูคาลิปตัสที่บริษัทมีพื้นที่ปลูกอยู่แล้วแถบจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี โดยจะส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกแล้วบริษัทเข้าไปรับซื้อในรูปคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง

นพ.สุพจน์กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการส่งเสริมพลังงานทดแทน แต่พอรัฐบาลชุดนี้ไม่มีนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน ทำให้บริษัทไม่มีแผนการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเติม แต่จะหันไปขยายโรงงานผลิต wood pellet รวมทั้งโรงพยาบาล โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคาร Inter3 โรงพยาบาลยันฮี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้เพื่อรองรับคนไข้ต่างชาติ แม้ว่าช่วงนี้คนไข้ต่างประเทศจะลดลงบ้างเรื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น