xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ชง ครม.ไฟเขียว “ไม้ยืนต้น” ใช้เป็นหลักประกันขอกู้เงินจากแบงก์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ชง ครม.ไฟเขียว “ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ” ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพิ่มทางเลือกในการนำมาใช้ค้ำประกันขอกู้เงินจากแบงก์ เผยล่าสุดมีการนำช้างและกิจการที่หลากหลายมาเป็นหลักประกันเพิ่มมากขึ้น มูลค่ากว่า 110 ล้านบาท

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ออกกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 โดยเพิ่มทรัพย์สินอื่น คือ ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออม การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทย อีกทั้งประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ระหว่างการปลูก โดยนำไปเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินได้ ซึ่งนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา

“การกำหนดให้ไม้ยืนต้นนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ กรมฯ ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สมาคมธนาคารไทยและธนาคารรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน SME Bank และทุกหน่วยงานเห็นตรงกัน และสนับสนุนให้มีการดำเนินการ”

สำหรับไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีประมาณ 58 รายชื่อ เช่น ไม้สัก พะยูง ชิงชัน ประดู่ มะค่า เต็ง รัง ตะเคียน สะเดา นางพญาเสือโคร่ง บีบ ตะแบกนา ไม้สกุลจำปี กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ มะขามป้อม หว้า จามจุรี กฤษณา ไม้หอม ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน มะขาม เป็นต้น

นางกุลณีกล่าวว่า สำหรับการนำสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ที่น่าสนใจก็คือ ประเภทสัตว์พาหนะ (ช้าง) และกิจการ โดยมูลค่าทรัพย์สิน (ช้าง) ที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 13 ล้านบาท และกิจการ 514 กิจการ ประกอบด้วย ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า ร้านซักอบรีด สวนผัก ผลไม้ สวนยางพารา หอพัก และรับเหมาก่อสร้าง จำนวน 97 ล้านบาท รวมมูลค่าช้างและกิจการกว่า 110 ล้านบาท

“การนำประเภททรัพย์สินใหม่ๆ มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของประเภททรัพย์สิน และทรัพย์สินเหล่านั้น ก็เป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินในการให้กู้ยืมเงิน ซึ่งสะท้อนได้ว่า พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น” นางกุลณีกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น