“อุตตม” หนุน “สสว.” ปรับโครงสร้างองค์กรและบทบาทเร่งปฏิรูปเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ลุยยุบ 2 กองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอีและกองทุนฟื้นฟูฯ เดิมคลอดกองทุนฟื้นฟูผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนวงเงิน 1,800 ล้านบาท เริ่มบริการปลาย ก.ค.นี้ ดึง ธพว.ร่วมบริหารจัดการหวังเข้าถึงเอสเอ็มอีทุกระดับ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) ได้จัดตั้งกองทุนใหม่ “กองทุนฟื้นฟูผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน” วงเงิน 1,800 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการปรับยุบ 2 กองทุนเดิม คือ พลิกฟื้นเอสเอ็มอี กองทุนฟื้นฟูผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมารวมกัน โดยกองทุนฯ ดังกล่าวจะดึงธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (ธพว.) มาบริหารที่จะทำให้เงินเข้าถึงเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนมากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายกรกฎาคมนี้ มีเป้าหมายปล่อยกู้ 5,000 ราย
นอกจากนี้ สสว.ยังเตรียมที่จะปรับโครงสร้างองค์กรที่จะเตรียมกำลังคนและงบประมาณให้เพียงพอเพื่อทำให้การขับเคลื่อนการส่งเสริมเอสเอ็มอีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะนำเสนอเข้าสู่บอร์ดใหญ่ สสว.ที่มีนายกรัฐมนตรีเดือนสิงหาคมนี้ต่อไป โดยการปรับโครงสร้างองค์กรจะรองรับโจทย์ที่ให้ไว้ที่ สสว.จะต้องมุ่งเน้นหลักๆ ได้แก่ 1. การยกระดับเอสเอ็มอีโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปชุมชนที่จะต้องมุ่งเน้นเป็นพิเศษ โดยจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิกศด้านต่างๆ และรวมถึง Centre of Excellence ภาคเกษตร สินค้าชุมชน 2. การทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม สสว. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่จะสนับสนุนการพัฒนาศูนย์ดิจิทัลชุมชน 3. สสว.จะประสานงานกับเครือข่ายในการจัดตั้งศูนย์ National Startup Center บูรณาการกับสถาบันการศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นศูนย์เพื่อการส่งเสริมและสร้างสังคมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น โดยแนวทางทั้งหมดจะต้องเห็นเป็นรูปธรรมในไตรมาส 3
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า กองทุนใหม่เกิดจากการยุบ 2 กองทุน ได้แก่ 1. กองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี มีวงเงิน 1,000 ล้านบาท ที่เหลือวงเงิน 600 ล้านบาท 2. กองทุนฟื้นฟูวงเงิน 2,000 ล้านบาท เหลือวงเงิน 1,200 ล้านบาท ซึ่งเดิม สสว.จะบริหารจัดการเอง ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาการปล่อยกู้มีความล่าช้าด้วยเงื่อนไขที่เอสเอ็มอีอาจจะเข้าไม่ถึง ดังนั้นกองทุนฯ ใหม่กำลังพิจารณาอาจปรับลดวงเงินปล่อยกู้ขั้นต้นที่ 5 หมื่นบาท สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ย 1%
“กองทุนพลิกฟื้นมีเงื่อนไขต้องปรับโครงสร้างหนี้ และสถาบันการเงินต้องการันตีว่าทำเรียบร้อยแล้วจึงเป็นปัญหาเพราะเอสเอ็มอีบางรายไม่ได้ปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ล่าช้า ส่วนกองทุนฟื้นฟูเดิมครั้งแรกต้องวางระบบก็ล่าช้ากว่าจะเริ่มได้ ดังนั้นกองทุนฟื้นฟูเดิมที่จะให้วงเงินเริ่มต้น 2 แสนบาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท จุดนี้เห็นว่าเอสเอ็มอีบางรายไม่ได้ต้องการขนาดนั้น กองทุนใหม่จะปรับเน้นรายย่อยมากขึ้น ก็กำลังคุยหารือรายละเอียดกับ ธพว.ในการปรับเงื่อนไขทั้งหมดอีกครั้ง” นายสุวรรณชัยกล่าว
สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กรอยู่ระหว่างการพิจารณานั้น ปัจจุบันมีพนักงานอยู่ 240 คน โดย สสว.มีแนวคิดที่จะขอเพิ่มอีก 100 คน เพื่อที่จะรองรับบทบาทใหม่ที่จะเปลี่ยนไปเป็นองค์กรชี้นำในการพัฒนาเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนของประเทศ