“กฟผ.” เผยแนวทางการจัดทำแผนพีดีพีจะมุ่งเน้นโรงไฟฟ้ามั่นคงที่ต้องตอบโจทย์ 8 ภูมิภาคตามกรอบพีดีพีใหม่ที่กำลังดำเนินงาน ควบคู่กับการรองรับโรงไฟฟ้ารูปแบบใหม่โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนที่กำลังมาแรง และเชื่อมโยงระบบส่งภูมิภาค พร้อมลงนาม EIA และ ม.ฮาวาย ศึกษารับเทคโนโลยีไฟฟ้า
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ที่ต้องร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมุ่งเน้นการตอบโจทย์การพัฒนาโรงไฟฟ้า 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. โรงไฟฟ้าเพื่อการแข่งขัน 2. โรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง และ 3. โรงไฟฟ้าที่จะเสริมด้านเศรษฐกิจ โดยพีดีพีฉบับใหม่ตามนโยบายกระทรวงพลังงานจะมุ่งสร้างพลังงานเป็นรายภูมิภาครวม 8 ภาค เนื่องจากแต่ละภาคมีข้อจำกัดและประสิทธิภาพที่ต่างกันออกไป
“เดิมทีเราจัดทำแผนพีดีพีที่เน้นดูการผลิตไฟฟ้าป้อนทั้งประเทศไปเลยไม่ได้แบ่งแยกเป็นภูมิภาค แต่พีดีพีใหม่จะดูเป็นรายภาคเพื่อทำให้วางแผนการพัฒนาได้ถูกจุดมากขึ้นไม่เช่นนั้นอาจจะกระจุกอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไป เช่น ภาคอีสานยังพึ่งไฟจากภาคเหนือ สปป.ลาวได้ ก็ต้องคิดบนพื้นฐานยืดหยุ่น ภาคใต้ไม่เหมือนกันเพราะหวังพึ่งพามาเลเซียก็ได้แค่ 300 เมกะวัตต์และก็พึ่งได้แค่ภาคกลางภาคเดียว ฯลฯ คิดเป็นรายภาคก็จะมีข้อมูลชัดเจนรอบคอบมากขึ้น” นายพัฒนากล่าว
สำหรับโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงนั้นจะประกอบด้วย ความมั่นคงที่ต้องตอบโจทย์เป็นรายภูมิภาค แล้วยังต้องมีกระบวนการบริหารจัดการที่ต้องรองรับการผลิตรูปแบบใหม่ซึ่งก็คือพลังงานหมุนเวียนในการจัดทำแผน และอาจต้องคำนึงไปถึงความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงระบบสายส่งเข้ากับภูมิภาค หรือ Reginal Grid อย่างไรก็ตาม กรณีของสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าที่มองความมั่นคงควรจะมากกว่า 50% หรือไม่ในแผนพีดีพีนั้น เรื่องนี้ก็ยังต้องหารือความชัดเจนเพราะรัฐธรรมนูญระบุว่ากิจการที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานควรให้รัฐถือครองได้ 50% แต่ถ้ามองกิจการทั่วไปรัฐไม่ควรแข่งขันเอกชนซึ่งไฟฟ้านั้นก็อยู่ที่จะต้องมาตีความกัน
นายพัฒนากล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโลก หรือ Disruptive ทำให้รูปแบบของการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนไป โดยอนาคตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะลดลงและจะแทนที่ด้วยโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่เป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพราะมีเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนต่ำลงแต่ระบบไฟจะไม่เสถียรทำให้โรงไฟฟ้าอนาคตจะต้องมีความยืดหยุ่น โดยต้องมีสมาร์ทกริด (สายส่งอัจฉริยะ) มีระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ซึ่ง กฟผ.จะต้องปรับโครงสร้างองค์กรลดขนาดลงให้เหมาะสมในการรองรับกับเทคโนโลยี และขณะเดียวกัน กฟผ.ได้มีการลงนาม (MOU) กับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (EIA) กับมหาวิทยาลัยฮาวาย เพื่อศึกษาสภาพระบบไฟฟ้าของไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อมีพลังงานทดแทนสู่ระบบมากขึ้น