xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ซัด กฟผ.ยึดติดระบบผลิตไฟฟ้าแบบเดิม ก่อปัญหามวลชน-สิ่งแวดล้อม แนะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ประสาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต รมว.คลัง แนะ กฟผ. เลิกยึดติดกรอบความคิดเดิม ต้องมีระบบผลิตไฟฟ้าแบบเดินเครื่องได้ 24 ชม. จึงมุ่งสร้างโรงไฟฟ้า มีปัญหากับมวลชน ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม - สุขภาพ แนะพัฒนาพลังงานทดแทน ให้ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างระบบผลิตและเก็บไฟฟ้า กฟผ. ปรับจากผู้ผลิตหลักเป็นผู้ประสานงาน บริหารแหล่งผลิตทั่วประเทศให้เป็นเนื้อเดียวกัน แนะดูงานจัดการพลังงานหมุนเวียนในยุโรปดีกว่าไปดูโรงไฟฟ้าถ่านหินญี่ปุ่น

วันนี้ (23 ก.พ.) เมื่อเวลา 08.17 น. ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thirachai Phuvanatnaranubala ของ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์แผนภาพแสดงกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าเทียบกับความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมข้อความว่า ภาพนี้ กฟผ. สื่อสารว่า ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้า 3,000 MW เปรียบเทียบกับการใช้ 2,700 MW ก็จริง แต่เป็นกำลังผลิตแบบเดินเครื่องได้ 24 ชั่วโมง เพียง 2,400 MW จึงต้องส่งจากภาคกลางลงไปวันละ 200 - 600 MW

นายธีระชัย ได้วิจารณ์ว่า 1. ถ้าประเทศใดยึดหลักเอาเฉพาะกำลังผลิตแบบเดินเครื่องได้ 24 ชั่วโมง ประเทศนั้นจะไม่มีทางใช้พลังงานหมุนเวียนได้เลย

2. การใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ (ก) การสร้างระบบเก็บไฟฟ้า ทั้งในระดับรัฐบาล และระดับเอกชน ทุกคนจะต้องช่วยกันลงทุนแบตเตอรี่ และ (ข) ต้องควบคู่ไปกับการมีเครือข่ายสายส่งที่เชื่อมถึงกันอย่างกว้างขวาง เพื่อถ่ายเทไฟฟ้าจากพื้นที่ที่ยังมีพลังงานหมุนเวียน เช่น แดดออก ไปยังพื้นที่ที่หมดพลังงานหมุนเวียน เช่น แดดพลบ

3. พลังงานหมุนเวียนบางอย่างสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำ เช่น แสงแดด พลังลม ก็สามารถนับเป็นแหล่งผลิตที่เดินเครื่องตามที่ศูนย์ควบคุมสั่งการได้ (Firm) อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง

4. พลังงานหมุนเวียนบางอย่างสามารถคาดการณ์ได้ยากกว่า เช่น โรงผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจากเศษปาล์ม น้ำเสีย ขยะ ไบโอก๊าซ วิธีทำให้สามารถนับเป็นแหล่งผลิตที่เดินเครื่องตามที่ศูนย์ควบคุมสั่งการได้ (Firm) ก็คือ กฟผ. ต้องประสานตัวเลขข้อมูลล่วงหน้าเป็นรายวัน

5. การส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปภาคใต้ รวมทั้งการรับซื้อจากมาเลเซียนั้น จำเป็นต้องมีอยู่แล้ว เพราะถ้าเกิดปัญหาในจุดใดจุดหนึ่ง ก็ต้องอาศัยการแบ๊กอัพจากส่วนอื่นๆ

ต่อมา เมื่อเวลา 12.02 น. นายธีระชัย โพสต์ข้อความอีกว่า ภาพนี้ทำให้เข้าใจวิธีคิด และวิธีทำงานของ กฟผ. ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนแปลง เชื่อว่า ปัญหากับมวลชนมีแต่จะมากขึ้น และจะไม่สามารถนำพาระบบผลิตไฟฟ้าของไทยไปสู่ระดับไทยแลนด์ 4.0 ได้เลย วิธีคิดและวิธีทำงานของ กฟผ. นั้น เคยชินกับการผลิตไฟฟ้าแบบกำลังหลักชนิดเดิมๆ คือ

(ก) เป็นกำลังผลิตแบบเดินเครื่องได้ 24 ชั่วโมง

(ข) เป็นกำลังผลิตที่เดินเครื่องได้ตามที่ศูนย์ควบคุมสั่งการ (Firm)

ด้วยแนวคิดนี้ ประกอบกับระบบการประมินผลงานของ กฟผ. ปัจจุบัน จึงกระตุ้นให้ กฟผ. เน้นถ่านหิน ถึงขั้นไปลงทุนในเหมืองถ่านหิน

แนวคิดแบบนี้ ใช้กันแพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนา เพราะต้องการเน้นเสถียรภาพแบบจับต้องได้ และให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นรอง

แต่ประเทศพัฒนาแล้วหันไปให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน เรื่องสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนมากขึ้น จึงเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

การเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนนั้น ไม่ใช่เรื่องทันสมัยโก้เก๋ แต่เป็นเพราะในประเทศพัฒนาแล้ว รัฐบาลจะรับภาระดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น ดังนั้น จึงมีผลประหยัดค่าใช้จ่ายสาธารณสุขตรงๆ

การเน้นใช้พลังงานทางเลือกนั้น จะมีปัญหาแบบใหม่ๆ ที่จะต้องบริหารจัดการ ดังนี้

1. พลังงานแสงแดดและพลังลม ไม่สามารถผลิตแบบเดินเครื่องได้ 24 ชั่วโมง จึงจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างระบบเก็บไฟฟ้า ทั้งในระดับรัฐบาล และระดับเอกชน ทุกคนจะต้องช่วยกันลงทุนแบตเตอรี่

2. พลังงานแสงแดดและพลังลม ต้องควบคู่ไปกับการมีเครือข่ายสายส่งที่เชื่อมถึงกันอย่างกว้างขวาง เพื่อถ่ายเทไฟฟ้าจากพื้นที่ในช่วงเวลาที่ยังมีพลังงานหมุนเวียน เช่น ยังมีแดดออก ไปยังพื้นที่ที่หมดพลังงานหมุนเวียน เช่น แดดพลบ

3. การเปลี่ยนแปลงการผลิตพลังงานหมุนเวียนซึ่งปัจจุบันถือเป็นแบบ Non firm ให้สามารถนับเป็นแหล่งผลิตที่เดินเครื่องตามที่ศูนย์ควบคุมสั่งการได้ (Firm) นั้นกระทำได้ แต่ กฟผ. ต้องประสานตัวเลขข้อมูลล่วงหน้าจากแหล่งเล็กๆ เหล่านี้เป็นรายวัน และถ้าผู้ผลิตเล็กรายใดส่งมอบ หรือไม่ส่งมอบตามที่ประเมินไว้ ก็ต้องมีระบบบวก และหักคะแนนเป็นรายวัน

ดังนั้น ถ้าประเทศไทยจะบริหารจัดการพลังงานทางเลือกดีขึ้น น่าจะต้องดำเนินการดังนี้

1. เปลี่ยน incentive ในการประเมิน กฟผ. โดยให้คะแนน และโบนัสตามปริมาณการผลิตพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด

2. กฟผ. ต้องเปลี่ยนวิธีการบริหาร จากเดิมที่เป็นผู้ผลิตหลัก ไปเป็นผู้ประสานงานหลัก และหาทางบริหารจัดการแหล่งผลิตย่อยๆ ทั่วประเทศและในประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นเนื้อเดียวกัน

3. เนื่องจากการเป็นผู้ประสานงานหลักจำเป็นต้องลงทุนในระบบข้อมูลและระบบการประสานงาน จึงควรจัดให้ กฟผ. มีรายได้ต่างหากจากการบริหารจัดการ

4. ควรให้ กฟผ. และกระทรวงพลังงานไปดูงานการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนในยุโรปแทนที่จะพาสื่อมวลชนไปดูโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น