“ศิริ” ชี้โมเดลตั้ง RPS เพื่อบริหารจัดการโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเสริมประสิทธิภาพไฟฟ้าในพื้นที่ ดับฝันสร้างคลัง FSRU ที่ภาคใต้ เพื่อรองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าอีกต่อไป พร้อมทั้งเร่งจัดทำแพลตฟอร์มโซลาร์ภาคประชาชนให้แล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ โดยให้ประชาชนประชาชนผลิตไฟและขายไฟส่วนเกินโดยไม่ต้องขายให้ กฟผ.และ กฟภ.
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงปาฐกถาพิเศษ “นโยบายการพัฒนาด้านพลังงานอย่างยั่งยืน ในบริบทของประเทศไทยสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน” (Sustainable Development Goals : SDGs ในงานสัมมนาประจำปี 2561 ที่จัดโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ว่า ใน 5 ปีนี้ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ตามการประเมินประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าหลัก โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นราว 20% ของกำลังผลิตไฟฟ้าในปีหน้า ทำให้ภาครัฐไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ที่มีกระแสเรียกร้องให้ก่อสร้างเพื่อไม่ให้ภาคใต้มีปัญหาไฟฟ้าขาดแคลน
ดังนั้น รัฐบาลมีแนวทางแก้ไขปัญหาไฟฟ้าในภาคใต้ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงทุนขยายสายส่งไฟฟ้าเป็น 4 คู่ เพื่อดึงกำลังผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปเสริมกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานก็มีแผนจัดทำโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดภาคใต้ ปริมาณ 260-300 เมกะวัตต์ ผ่านการจัดตั้งหน่วยใหม่ Regional Power System หรือ RPS ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ทำหน้าที่บริหารจัดการไฟฟ้าในพื้นที่ตั้งแต่การผลิต รับซื้อ จำหน่าย จัดส่งไฟฟ้า และควบคุมระบบไฟฟ้า ทำให้เกิดความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่ หากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จภาคใต้ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งไม่ต้องสร้างคลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FSRU) เพื่อนำเข้าแอลเอ็นจีมาป้อนโรงไฟฟ้าอีกต่อไป เพราะจะใช้ทรัพยากรในพื้นที่ คือไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวลใช้ภายในพื้นที่
นอกจากนี้ ในสิ้นปีนี้แผนจัดทำแพลตฟอร์มโครงการโซลาร์ภาคประชาชนจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายไฟส่วนที่เหลือออกมาได้โดยไม่ต้องขายผ่านให้กฟผ. หรือกฟภ. แต่จะต้องมีการนำระบบสมาร์ทกริดและระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เข้ามารองรับ ก่อให้เกิดบริษัทสตาร์ทอัพและนวัตกรรมใหม่ๆ จำนวนมาก เพื่อบริหารจัดการโครงข่ายดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560 การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้รับทราบผลการศึกษาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหา/นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Facilities) โดยโครงการ FSRU ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ขนาด 2 ล้านตันต่อปี ขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดชัดเจนสำหรับนำมาประกอบการตัดสินใจในการดำเนินโครงการ ว่าควรจะใช้รูปแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด โดยขณะนี้ทาง ปตท.มีการศึกษา FSRU ภาคใต้ และพม่า ขนาด 3 ล้านตัน/โครงการ เพื่อนำเข้าแอลเอ็นจีป้อนให้แก่โรงไฟฟ้า