xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าด่านค้าน “ศิริ” ลุยเดินหน้าตั้ง บ.RPS บริหารชีวมวล 3 จว.ภาคใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ศิริ” เดินหน้า บ.RPS ยันไม่ได้ลดบทบาท กฟภ.และ กฟผ. และแปรรูปแต่อย่างใด มั่นใจรูปแบบจะสร้างความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้และสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ อย่ากังวลถ้าบริษัทเจ๊งรัฐพร้อมดูแลผู้ใช้ไฟ 5 แสนราย ด้านกรรมการ สร.กฟภ.ภาคใต้หารือพรุ่งนี้ วางมาตรการยกระดับเคลื่อนไหวคัดค้าน


นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัท RPS (Regional Power System) เพื่อเป็นผู้บริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) ว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในท้องถิ่นและความมั่นคงด้านพลังานซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อบทบาทของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ลดลงแต่อย่างใด และไม่ได้เป็นการแปรรูป แต่จะเป็นการเสริมบทบาทและความร่วมมือที่จะสร้างประสิทธิภาพที่มากขึ้น

“กองทุนเพื่อการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงานจะเข้ามาสนับสนุนการสร้างเครือข่ายสายส่งและจำหน่ายเอาไว้ด้วยกัน ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าจะต้องมีการโอนย้ายผู้ใช้ไฟจำนวน 5 แสนรายเข้ามาไว้ในบริษัท RPS นั้น หากบริษัทนี้ขาดทุน ยืนยันว่ารัฐบาลจะต้องรับผิดชอบและจะต้องไม่เป็นภาระของคนทั้งประเทศเพราะมีการบริหารจัดการใหม่ เพราะจะนำเงินกองทุนฯ มาสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นเจ้าของธุรกิจเองในการจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลรวมตัวกันจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงที่มีอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้วมาจำหน่ายสร้างรายได้” นายศิริกล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานเตรียมรายงานแนวคิดใหม่ในการบริหารจัดการไฟฟ้าระบบพลังงานสะอาดที่สุดในโลก ต่อที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ (UN) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)ในช่วงต้นเดือน ก.ค. 2561 นี้ โดยจะยกตัวอย่างกรณีการจัดการไฟฟ้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) ที่ไทยกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำเครือข่ายไฟฟ้าอิสระ ซึ่งจะใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในพื้นที่เป็นหลักผสมผสานกับไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนบางลาง จ.ยะลา และไฟฟ้าจากเขื่อนบางลาง

นายสมชาย อักษรภักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) ภาคใต้ เขต 3 กล่าวว่า ทางกรรมการ สร.กฟภ.ภาคใต้ 40-50 คนจะนัดหารือพรุ่งนี้ (27 มิ.ย.) เพื่อยกระดับการออกมาตรการที่จะเคลื่อนไหวการคัดค้านแนวทางดังกล่าวเนื่องจากยังคงไม่มั่นใจว่าที่สุดรัฐบาลจะสามารถดูแลผู้ใช้ไฟในพื้นที่ทั้งหมด 5 แสนรายที่ปัจจุบันเป็นลูกค้า กฟภ.ไปสังกัดบริษัท RPS ได้ในอนาคนหากดำเนินการเกิดการขาดทุน

“เบื้องต้นจะทำชีวมวลกำลังผลิต 120 เมกะวัตต์ ลำพังชีวมวลในพื้นที่ไม่พอและหากขาดแคลนเชื้อเพลิงต้นทุนจะแพงขึ้นแล้วที่สุดจะไปขึ้นค่าไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟแน่นอนและถ้าบริษัทนี้ขาดทุนจะทำอย่างไร และ RPS รูปแบบเบื้องต้นจะให้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานถือหุ้น 51% ที่เหลือ 49% เป็น กฟภ.และ กฟผ.ฝ่ายละครึ่ง และระยะแรกจะให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้(ศอ.บต.)บริหารจากนั้นจะมีการเลือกวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เข้ามาถือหุ้นแทนในส่วนของกองทุนอนุรักษ์ฯ ซึ่งแนวทางจะทราบได้อย่างไรว่าวิสาหกิจชุมชนคือประชาชนแท้จริงไม่ใช่นอมินีของฝ่ายทุนหรือการเมืองท้องถิ่นที่จะเอื้อใครหรือไม่” นายสมชายกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น