ยะลา - ศอ.บต.ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จับมือช่วยเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงข่าวเตรียมนำผลผลิตในพื้นที่ส่งขายทั้งใน และต่างประเทศ
วันนี้ (19 มิ.ย.) นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. นางจินตนา ชัยยวรรณการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บริหารส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด (ปัตตานี นราธิวาส ยะลา) ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคใต้ตอนล่าง ธ.ก.ส. และภาคเอกชน ร่วมงานแถลงข่าวผลไม้ชายแดนใต้ รอเก็บผลสดส่งตลาดโลก เตรียมเปิดฤดูกาลผลไม้ดี 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี นราธิวาส และยะลา) ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า อาคารอเนกประสงค์ ศอ.บต.
นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปิดเผยว่า ผลไม้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แตกต่างจากผลไม้ในพื้นที่อื่นๆ ทั้งช่วงเวลาการออกผลผลิต คือ ออกช้ากว่าจังหวัดอื่นๆ และด้วยข้อจำกัดด้านสภาพพื้นที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งรองรับผลผลิต และผู้บริโภค ทำให้กลไกการตลาดที่ซับซ้อนเกิดการผูกขาดเกษตรไม่สามารถกำหนดราคาในการขาย ในขณะที่ด้านคุณภาพของผลผลิตแต่ละชนิดมีจุดเด่นความเป็นเอกลักษณ์ในตัวเอง เช่น ลองกอง ด้านเรื่องรสชาติที่ละมุนลิ้นกว่าที่อื่น ลองกองมีกลิ่นหอมหวาน ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค หากเป็นทุเรียน จะเป็นสายพันธุ์แท้จากพื้นที่ที่มีความหลากหลายสายพันธุ์มีชื่อเสียง ได้แก่ มูซังคิง ทุเรียนทรายขาว มีลักษณะพิเศษ เนื้อละเอียด เปลือกบาง เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ และต่างประเทศ
ในขณะที่มังคุด เงาะ ถือเป็นผลผลิตที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง ผลไม้ทั้ง 4 ชนิดและอื่นๆ จะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายนนี้ จากสภาพสถานการณ์ในพื้นที่ส่งผลให้พ่อค้าคนกลางที่จะติดต่อเข้ามาซื้อขายผลผลิตในสวนมีจำนวนน้อยลง บางส่วนที่เข้ามาซื้อโดยตรงก็อาจรับซื้อในราคาที่เกษตรกรไม่คุ้มทุน หรือแทบไม่คุ้มค่าแรง ศอ.บต.จึงได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานร่วมประชารัฐ ขับเคลื่อนกระบวนการนำผลไม้จากจังหวัดชายแดนใต้ให้ถึงมือผู้บริโภค และตลาดโลก โดยคำนึงถึงผลผลิตที่เน้นคุณภาพ ตามความต้องการตลาดต่างประเทศ และชื่อเสียงเป็นเรื่องสำคัญ
ด้าน นางจินตนา ชัยยวรรณการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานประชารัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้เตรียมการจัดหาตลาดปลายทาง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นในการกระจายผลผลิต รวมทั้งจัดหาสถานที่จำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกรรายย่อย เน้นกระบวนการบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อนำผลผลิตไปถึงมือผู้บริโภคโดยตรงอย่างรวดเร็ว ผลไม้ยังคงความสด
นอกจากนั้น ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลส่งเสริมการทำการเกษตรแปลงใหญ่เพื่อผลิตผลไม้คุณภาพสู่มาตรฐาน GAP และถ่ายทอดองค์ความรู้สร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งการแปรรูป ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย และเหมาะสม สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตประเภทผลไม้ ที่จะให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2561 มีพื้นที่ปลูกไม้ผลพืชเศรษฐกิจรวม 4 ชนิด คือ ลองกอง 101,706 ไร่ ผลผลิต 28,235 ตัน ทุเรียน 94,392 ไร่ ผลผลิต 52,573 ตัน มังคุด 30,920 ไร่ ผลผลิต 16,597 ตัน เงาะ 28,896 ไร่ ผลผลิต 16,278 ตัน โดยจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ถึงตุลาคมนี้
นายณธรรศ สันธากร รองประธานบริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เปิดตลาดรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการประสานงานร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพาณิชย์จังหวัด ได้เปิดเผยว่า ทางบริษัทยินดีที่จะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ในการรับซื้อผลผลิตทุเรียน โดยเป็นนโยบายหลักในการที่จะเดินทางรับซื้อจากเกษตรกร และรับซื้อทุเรียนทุกไซส์ โดยเฉพาะไซส์ที่ตกเกรด เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรอีกทางหนึ่ง ซึ่งเกษตรกรสามารถนำผลผลิตมาจำหน่ายให้แก่ทางบริษัทได้ตามจุดรับซื้อที่ได้ประสานทางพาณิชย์จังหวัดไว้แล้ว ในส่วนของราคาที่รับซื้อนั้น ทางบริษัทได้มีการกำหนดไว้แล้ว เชื่อว่าจะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีความพึงพอใจได้แน่นอน
ทางด้าน นายสุชิน ห้องสุวรรณ เกษตรกรสวนทุเรียนใน อ.กรงปินัง จ.ยะลา ระบุว่า โครงการดังกล่าวนี้นับเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้ดีอีกทางหนึ่ง ที่จะช่วยสามารถประกันราคา และเป็นตลาดส่งออกทุเรียน หรือผลไม้อย่างอื่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในขณะนี้เอง สินค้าก็ยังคงมีความต้องการของตลาดอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะผลผลิตทุเรียนจากทางภาคกลางเหลือจำนวนน้อยลง และเมื่อผลผลิตทุเรียนจากทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกสู่ตลาด คงจะไม่มีปัญหาเรื่องของผลผลิตล้นตลาดในปีนี้แน่นอน