xs
xsm
sm
md
lg

สร.กฟภ.เกาะติดถกตั้ง บ.RPS พรุ่งนี้ ขู่โอนย้ายผู้ใช้ไฟ 5 แสนรายเคลื่อนไหวแน่!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กฟภ.เตรียมหารือร่วม กฟผ.พรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) หวังทำรายละเอียดแนวทางการจัดตั้งบริษัท RPS ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินหน้าบริหารจัดการครบวงจรเพื่อผลิตไฟฟ้าชีวมวล สร.กฟผ.ภาคใต้ย้ำจุดยืนค้านโอนย้ายผู้ใช้ไฟ 5 แสนรายเข้าสังกัดหวั่นอนาคตถูกลอยแพ! ค่าไฟแพงจ่อเคลื่อนไหวใหญ่ต้านแน่

นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า พรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) กฟภ.จะหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงแนวทางและความชัดเจนขั้นตอนการจัดตั้งบริษัท RPS (Regional Power System) เพื่อบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟภ. (สร.กฟภ.) ภาคใต้มีข้อกังวลการโอนย้ายรายชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 แสนรายไปสังกัด RPS นั้น ได้ยืนยันไปแล้วว่าจะไม่มีผลกระทบรวมถึงการโอนย้านพนักงานด้วย

นายสมชาย อักษรภักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) ภาคใต้ เขต 3 กล่าวว่า ทางสร.กฟภ.ภาคใต้จะติดตามการหารือและแนวทางจากรัฐอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นการโอนย้ายชื่อผู้ใช้ไฟในพื้นที่ทั้งหมด 5 แสนรายที่ปัจจุบันเป็นลูกค้า กฟภ.ไปสังกัดบริษัท RPS หากดำเนินการจริงจะมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าวแน่นอนเพราะผู้ใช้ไฟเหล่านี้จะมีความเสี่ยงในอนาคต

“เรายังคัดค้านประเด็นนี้ โดยพนักงานในพื้นที่จะแต่งชุดดำจนถึงสิ้นดือนนี้ และเตรียมแผนคู่ขนานไว้แล้วด้วยการล่ารายชื่อคนร่วมค้านใน 6 จังหวัดภาคใต้เพื่อเตรียมไว้ระหว่างรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาลหากยังเดินหน้าต่อเราจะเคลื่อนไหวใหญ่ ซึ่งปัญหาของพนักงาน กฟภ.3 จังหวัดใต้ที่มีประมาณกว่า 7 หมื่นคนเราเองมองว่าไม่ใช่ปัญหา แต่เราห่วงว่าผู้ใช้ไฟจะเสี่ยงมากกว่า” นายสมชายกล่าว

ทั้งนี้เพราะนโยบายดังกล่าวเป็นแนวคิดกระทรวงพลังงานที่ต้องการให้ภาคใต้มีความมั่นคงระบบและชุมชนมีรายได้ด้วยการจัดตั้งบริษัท RPS ขึ้น เบื้องต้นจะให้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานถือหุ้น 51% ที่เหลือ 49% เป็น กฟภ.และ กฟผ.ฝ่ายละครึ่ง และระยะแรกจะให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) บริหาร จากนั้นจะมีการเลือกวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เข้ามาถือหุ้นแทนในส่วนของกองทุนอนุรักษ์ฯ ซึ่งแนวทางจะทราบได้อย่างไรว่าวิสาหกิจชุมชนคือประชาชนแท้จริงไม่ใช่นอมินีของฝ่ายทุนหรือการเมืองท้องถิ่นที่จะเอื้อใครหรือไม่

นอกจากนี้ นโยบายรัฐยังกำหนดให้โอนผู้ใช้ไฟ 5 แสนคนของ กฟภ.เข้ามาเป็นผู้ใช้ไฟในส่วนนี้ หากเป็นจริงความเสี่ยงในอนาคตจะมีสูงเพราะ RPS กำหนดให้ผลิตไฟจากชีวมวล โดยมีเป้าหมาย 3 จังหวัดชายแดนใต้ กำลังผลิต 120 เมกะวัตต์ ซึ่งลำพังชีวมวลในพื้นที่ไม่พอและหากขาดแคลนเชื้อเพลิงต้นทุนจะแพงขึ้นแล้วที่สุดจะไปขึ้นค่าไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟแน่นอน โดยในช่วงแรกอาจจะเอาใจด้วยการลดค่าไฟด้วยก็เป็นไปได้เพื่อลดกระแสต่อต้านแต่ระยะยาวมีความเสี่ยงมาก ขณะที่พนักงาน กฟภ.ในพื้นที่ก็จะมีการย้ายไปสังกัดด้วย จึงเห็นว่ารูปแบบนี้คือการแปรรูป กฟภ.ในเบื้องต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น