ยะลา - ประธานสหภาพแรงงาน กฟภ.ภาคใต้ เขต 3 นำพนักงานการไฟฟ้าแต่งกายชุดดำ ถือป้ายคัดค้านการแปรรูปไฟฟ้า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นบริษัท RPS พร้อมอ่านแถลงการณ์ถึงเหตุผล ยืนยันขอคัดค้านถึงที่สุด
จากกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือเลขที่ กฟผ. 910000/45142 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ที่มีข้อความโดยสรุปว่า จะมีการบริหารจัดการกิจการด้านพลังงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะมีการแปรรูปการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นบริษัท RPS เข้าดำเนินการกิจการด้านพลังงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ และพนักงานของการไฟฟ้าในพื้นที่เกิดความไม่สบายใจ รวมทั้งทางสหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคภาคใต้เขต 3 ได้เรียกประชุมด่วนเพื่อกำหนดท่าทีในเรื่องดังกล่าว
ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (4 มิ.ย.) ที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดยะลา ถนนสาย 15 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา บรรดาผู้บริหาร พนักงาน และเจ้าหน้าที่ จำนวน 150 คน ได้ร่วมแต่งกายชุดสีดำ ถือป้ายคัดค้านนโยบายการแปรรูปการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นบริษัท RPS โดยมี นายสมชาย อักษรภักดิ์ ประธานสหภาพแรงงาน กฟภ.ภาคใต้ เขต 3 อ่านแถลงการณ์คัดค้าน โดยมีข้อความว่า
ตามที่มีกระแสข่าวเรื่องการจัดตั้งบริษัท RPS หรือ Regional Power System Company เพื่อบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า โดยอ้างความต้องการพลังงานไฟฟ้า และความมั่นคงต่อระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้า โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถือหุ้นในอัตรา 24.5% และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ถือหุ้นในอัตรา 24% และกลุ่มทุนในนามของวิสาหกิจชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือหุ้นในอัตรา 51% นั้น
เราชาวพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขอแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการกระทำดังกล่าว เนื่องจากเป็นการกระทำการโดยเร่งรีบ รวบรัด ไม่โปร่งใส ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ หรือให้โอกาสให้พนักงาน หรือส่วนเกี่ยวข้องของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งภาคประชาชนได้มีโอกาสได้ชี้แจง แสดงเหตุผล หรือรับทราบปัญหา ข้อดีข้อเสียของโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบัน สังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนให้แก่ผู้ประกอบกิจการ ตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 โดยมิได้แสวงหาผลกำไร หรือประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีวัตถุประสงค์ที่จะต้องบริการประชาชนในด้านสาธารณูปโภค อำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีกระแสไฟฟ้าในการดำรงชีวิต
ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ได้มีผลกำไรจากการประกอบกิจการ แต่ยังคงเต็มใจที่ดำเนินกิจการต่อไป เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าสาธารณูปโภคหลักที่ต้องบริการให้ความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้ไฟอย่างทั่วถึง และถึงแม้ไม่มีกำไรในพื้นที่นี้ แต่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ยังคงบริหารจัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟในพื้นที่ได้ตามปกติ หากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกำหนดให้อยู่ในรูปแบบของบริษัท ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องคำนึงถึงผลกำไรเป็นหลัก เมื่อไม่มีผลกำไร การขึ้นค่ากระแสไฟย่อมเกิดขึ้นได้ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลอาจให้การอุดหนุนในช่วงต้นของการดำเนินการ แต่ภายหน้าเมื่อต้องการผลกำไร การขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าย่อมเกิดขึ้น ความเดือดร้อนจึงไปตกอยู่กับประชาชน
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต้องสูญเสีย หรือเสียหายอย่างไรบ้างต่อการกระทำครั้งนี้ คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนประมาณ 500,000 ราย ต้องโอนให้แก่บริษัท RPS โดยบริษัท RPS ชุบมือเปิบจากรายได้ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ได้รับผู้ใช้ไฟ และนำรายได้ไปบริหารจัดการอย่างไร จะส่งต่อให้รัฐหรือนำไปบริหารกิจการสร้างกำไรให้ตนเอง ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% ของบริษัท RPS เป็นใคร และทำผลประโยชน์เพื่อชุมชนจริงหรือไม่ หรือจะทำกำไรเข้ากระเป๋าตนเอง และหากบริหารขาดทุนจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ระบบจำหน่าย สายส่ง สถานีไฟฟ้า อาคารสำนักงาน และทรัพย์สินทุกอย่างจะต้องให้บริษัท RPS ใช้ประโยชน์ ซึ่งเบื้องต้นทราบเพียงว่าจะจ่ายผลตอบแทนเป็นค่าเช่าในการดำเนินการให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งไม่รู้ว่าจะดำเนินการไปได้แค่ไหน คุ้มทุนที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ลงทุนไปอย่างไร
ประชาชนได้อะไร หรือสูญเสีย หรือเสียหายอย่างไร คือผลกระทบค่าไฟฟ้าที่อาจต้องขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า หากการบริหารจัดการของหาบริษัท RPS ไม่มีผลกำไร แต่หากยังคงเป็นการบริหารจัดการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ถึงอย่างไรก็ยังคงต้องบริการประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ต่อไป หากมีการจัดตั้งบริษัทจะมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่คาดล่วงหน้าได้ว่า วัตถุดิบหลักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ไม้ยางพารา ซึ่งไม่นานคงจะต้องหมดไป ดังนั้น วัตถุดิบที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าอาจเป็นอย่างอื่นที่มีอันตรายต่อสุขภาพประชาชน มลพิษที่จะเกิดต่อชุมชนติดตามมา
พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเกิดผลกระทบอย่างไร คือ พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว ต้องการขวัญกำลังใจ ความมั่นคงในการปฏิบัติงานจะถูกควบคุม ลิดรอนสิทธิสวัสดิการใดๆ หรือไม่ ณ ปัจจุบันนี้ ยังมีคำตอบจากผู้บริหาร หรือจากผู้คิดโครงการนี้ขึ้นมา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงขอคัดค้านโครงการอัปยศที่จะสร้างความเดือดร้อน วุ่นวายให้แก่ประชาชน และพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างสุดความสามารถ และจะคัดค้านการจัดตั้งบริษัท RPS อย่างเป็นรูปธรรม และทุกภาคส่วนต่อไป
นายสมชาย อักษรภักดิ์ ประธานสหภาพแรงงาน กฟภ.ภาคใต้ เขต 3 เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อต้องการให้รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นของประชาชน อยู่ต่อกับประชาชนต่อไป หลังจากมีข่าวจะแปรรูปเป็นบริษัท ในส่วนของพนักงานเองก็มีความรู้สึก เพราะรัฐวิสาหกิจนั้นจะมีนายจ้างคือรัฐบาล และประชาชนคือเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด พวกเราในนามของพนักงานได้ถูกคัดเลือกโดยประชาชนมาบริหาร ดำเนินการทั้งหมด เพราะฉะนั้นทุกวันนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็เป็นของประชาชนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะโอนไปในรูปของบริษัท ที่ผ่านมา เราจะเห็นการแปรรูปเป็นบริษัทน้ำมัน ซึ่งทุกวันนี้เมื่อไปอยู่ในรูปของบริษัทเอกชน อำนาจการต่อรองก็ยาก ต้องรอรับผลกรรมอย่างเดียว ไฟฟ้าก็เช่นกัน ต้องอยู่ต่อกับประชาชน เพราะเราไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์กับประชาชน
แต่ถ้าเมื่อไหร่การไฟฟ้าไปอยู่ในมือของเอกชนก็ต้องแบกรับภาระกำไรขาดทุน หากมีต้นทุนสูงขึ้นก็จะต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นแน่นอน ซึ่งยังไม่ทราบแน่นอนว่าบริษัท RPS ที่จะตั้งขึ้นมาจะรับผิดชอบหรือเปล่า ในฐานะสหภาพแรงงาน และผู้บริหารทั้งหมดเป็นห่วง เพราะจะให้ไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปลายด้ามขวานไปอยู่เป็นบริษัท แต่ในอีก 70 กว่าจังหวัดยังอยู่กับการไฟฟ้า จึงเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้
“ผลเสียที่เราจะพบแน่หากมีการแปรรูปเป็นบริษัท คือ ปัจจุบันผลการประกอบการในพื้นที่ขาดทุน ไฟฟ้าจะต้องแบกรับภาระ เอาผลเฉลี่ยจากที่อื่นที่มีกำไรมาช่วย 3 จังหวัดใต้ การขยายเขตไฟฟ้าในพื้นที่ไกลๆ ค่าตัดต้นไม้ก็ไม่คุ้มต่อค่าไฟที่ได้รับ หากวันไหนแปรรูปเป็นบริษัท เชื่อได้เลยว่า การลงทุนแบบนี้ไม่มีอย่างแน่นอน เพราะบริษัทต้องลดต้นทุน และต้องขึ้นค่าไฟแน่นอน ส่วนกำไรที่ได้จะนำเข้ารัฐอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ตนเองได้รับทราบว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบเรื่องนี้แล้ว และได้สั่งให้ชะลอ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากวันนี้ไปการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานนั้น ทางสหภาพแรงงานก็จะขอดูทิศทางของรัฐบาลว่าจะออกไปในทิศทางใดอีกครั้ง” นายสมชาย กล่าว