การท่าเรือฯ เผยผลช่วง 6 เดือน (ต.ค. 60 - มี.ค. 61) ปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้น 4.717% เหตุความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลาย และการส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
เรือตรี ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายวิศวกรรม รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้า ผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ในช่วงระยะ 6 เดือนประจำปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 – มีนาคม 2561) โดยเปรียบเทียบกับปีก่อน สรุปดังนี้
ท่าเรือกรุงเทพ มี เรือเทียบท่า 1,550เที่ยว เพิ่มขึ้น 5.370% สินค้าผ่านท่า 10.934 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.474 % ตู้สินค้าผ่านท่า 0.750 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 1.426 %
ท่าเรือแหลมฉบัง มีเรือเทียบท่า 6,598 เที่ยว ลดลง 1.990 % สินค้าผ่านท่า 40.733 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.151 % ตู้สินค้าผ่านท่า 3.972 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 5.363 %
ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน มีเรือเทียบท่า 2,166 เที่ยว เพิ่มขึ้น 6.752 % สินค้าผ่านท่า 150,850 ตัน เพิ่มขึ้น 71.368 %
ท่าเรือเชียงของ มีเรือเทียบท่า 247 เที่ยว ลดลง 31.198 % สินค้าผ่านท่า 38,546 ตัน ลดลง 3.214 %
ท่าเรือระนอง มีเรือเทียบท่า 156 เที่ยว เพิ่มขึ้น 22.835% สินค้าผ่านท่า 40,712 ตัน เพิ่มขึ้น 55.728 %
โดยในช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ทั่วโลกประสบกับความผันผวนและความไม่แน่นอนทางด้านการเมือง โดยเฉพาะสองประเทศอย่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ อีกทั้งความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่ในรอบเดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลก คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับและต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของประเทศต่างๆ รวมถึงราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ส่งผลต่อการค้าขายระหว่างประเทศ
ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้เท่ากับ 3.8% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.9% เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการค้าและราคาน้ำมันที่พุ่งตัวสูงขึ้น จากปัจจัยเชิงบวกต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น ส่งผล เชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง รวมทั้งคาดว่าจะได้รับ แรงส่งจากภาคส่งออกสินค้าและบริการ รวมถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ถือเป็นแรงสนับสนุนหลักให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโต ได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ระดับ 4%
อย่างไรก็ตามปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ กทท. (ทกท. และ ทลฉ.) มีอัตราเติบโตเพิ่มสูงขึ้นทั้งด้านปริมาณตู้สินค้าและสินค้าผ่านท่าที่ร้อยละ 4.717 และ 4.634 ตามลำดับ