ธสน. ปรับประมาณการส่งออกปี 61 เพิ่มเป็น 7-9% จากเดิม 5-8% หลังพบมูลค่าการส่งออก 4 เดือน ขยายตัวเพิ่มถึง 11.5% เหตุ มีสารพัดปัจจัยที่เกื้อหนุน พร้อมปรับคาดการณ์มูลค่าส่งออกใน 3 กลุ่มสินค้าหลักเพิ่ม เผยจับตามองปัจจัยความผันผวนที่มากขึ้นของค่าบาท มาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวถึงการส่งออกในปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากมูลค่าส่งออกในช่วง 4 เดือนแรก ขยายตัวถึง 11.5% ซึ่งสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ธนาคารจึงได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของภาคการส่งออกไทยทั้งปี 61 ขึ้นเป็น 7-9% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 5-8%
ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับสูง โดยล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 3.9% สูงสุดในรอบ 7 ปี พร้อมทั้งปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าการค้าโลกจากเดิมที่ขยายตัว 4.6% เป็น 5.1% ด้านราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เคยคาดการณ์ ทำให้สำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันปี 61 จาก 63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็น 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากอุปสงค์น้ำมันที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันราว 15%
ของมูลค่าส่งออกรวมขยายตัวในระดับสูงตาม นอกจากนี้ ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกยังใช้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ และมีการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีความคืบหน้า และชัดเจนมากขึ้น
นายพิศิษฐ์ เปิดเผยต่อไปว่า การส่งออกของไทยไปยังแต่ละตลาดในปี 61 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้มากกว่าที่เคยคาดการณ์ในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียนเดิม ที่คาดว่าจะขยายตัวได้สูงกว่า 9% เช่นเดียวกับตลาดใหม่ อย่าง CLMV และตลาด New Frontiers อื่นๆ ที่ปรับเพิ่มคาดการณ์เป็น 8.5% และ 6.3% จากคาดการณ์เดิมที่ 6.7% และ 5.0% ตามลำดับ
สำหรับมูลค่าส่งออกจำแนกรายสินค้านั้น ธสน. ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าส่งออกปี 61 ใน 3 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน ขยายตัวเพิ่มเป็น 17.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 11.2% รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ปรับเพิ่มเป็น 8.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 7.8% และสินค้าเกษตร ปรับเพิ่มเป็น 6.6% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.0% อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตามองปัจจัยบั่นทอนบางประการที่อาจกระทบต่อการส่งออก และทำให้มูลค่าส่งออกในช่วงที่เหลือของปีน้อยกว่าที่คาด ได้แก่ ค่าเงินที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้า และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า จากทิศทางการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ แสดงให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งธนาคารพร้อมสนับสนุนทั้งด้านข้อมูลข่าวสาร และบริการทางการเงินอย่างครบวงจร โดยความร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ไม่จำกัดเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มส่งออกได้เพิ่มขึ้น แต่รวมถึงอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ แต่ยังมีส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่น้อย อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศได้มากถึงปีละ 1 ล้านล้านบาท ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเป็นอย่างมาก
เนื่องจากใช้วัตถุดิบในประเทศมากถึง 80% อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคนจำนวนมากตลอดห่วงโซ่การผลิต จึงสามารถกระจายรายได้ให้กับคนในประเทศเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานในภาคการผลิตราว 1 ล้านคนแล้ว อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับประชากรที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มสินค้าเกษตรกว่า 30 ล้านคน แต่ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหารมีผลผลิตใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศถึง 70% และส่งออกเพียง 30% โดยไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่เพียง 2.3% จึงยังมีโอกาสอีกมากที่จะขยายการส่งออกเพิ่มมากขึ้น