กรุงศรี ปรับประมาณการจีดีพีเป็น 4.7% จาก 4% หลังไตรมาสแรกโตเกินคาด ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มยังผันผวนในทิศทางแข็งค่า คาดสิ้นปีแตะ 31.25 พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ ACCD ลดความเสี่ยงค่าเงิน
นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า เงินบาทมีความผันผวนขึ้นในปีนี้ โดยในช่วงต้นปี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าหลังจากที่แข็งค่ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน โดยตั้งแต่ 16 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อยู่เหนือระดับ 3% จนถึงปัจจุบันอ่อนค่าลง 3% แต่หากมองตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าขึ้น 1.33% และในครึ่งปีหลังก็จะยังผันผวนอยู่โดยปัจจัยที่กระทบต่อค่าเงินเป็นกรณีของนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่กรุงศรี คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ ครั้งแรกในการประชุมสัปดาห์หน้า และอีกครั้งในครึ่งปีหลัง รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักสูตรอื่นๆ และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ที่คาดการณ์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งในปลายปีนี้ในระดับ 0.25% เป็น 1.75% และอีก 1 ครั้งในครึ่งแรกปีหน้าอีก 0.25% เป็น 2.00% หลังแนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ส่วนประมาณการค่าเงินบาทในช่วง 1 ปีจากนี้ คาดการณ์ไตรมาส 2 ปีนี้ อยู่ในกรอบ 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่ากลางที่ 31.75) ไตรมาส 3 มีกรอบที่ 30.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่ากลางที่31.37) ไตรมาส 4 มีกรอบที่ 30.25-32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่ากลางที่ 31.25) ไตรมาสแรกปี 2562 มีกรอบที่ 30.00-32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่ากลางที่ 31.00) และไตรมาส 2 ปี 2562 มีกรอบที่ 30.00-31.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่ากลางที่ 30.87) โดยเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากทิศทางเศรษฐกิจที่เติบโตชัดเจนขึ้น รวมถึงการเลือกตั้งที่จะมีความชัดเจนขึ้นในต้นปีหน้า รวมถึงการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงจากความกดดันเรื่องสงครามการค้า และนโยบายการเงิน
สำหรับปัจจัยที่นักลงทุนจับตามองในระยะถัดไป เป็นกรณีของราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น เนื่องจากส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจ และอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และกรณี Brexit และภาวะตลาดตราสารหนี้ของประเทศชายขอบในยูโรโซน อาทิ อิตาลี และสเปน
นอกจากนี้ ธนาคารยังปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในส่วนของจีดีพี เป็นเติบโต 4.7% จากเดิมที่ 4.0% ผลจากการส่งออก การท่องเที่ยว ที่ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคดีขึ้นตามไปด้วย รวมถึงการลงทุนที่ดีขึ้นด้วยแรงหนุนจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมกันปรับคาดการณ์ส่งออกเป็นเติบโต 9% จาก 5% และการลงทุนภาครัฐเป็น 8% จาก 10% เนื่องจากยังมีความล่าช้า
ทั้งนี้ จากความผันผวนของค่าเงินดังกล่าว ธนาคารกรุงศรี ซึ่งมีเครือข่ายที่ครอบคลุมจาก MUFG ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ นำเสนอบริการธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินสองสกุล (ACCD) ที่จะใช้เงินสกุลในการชำระเงินโดยไม่ต้องผ่านเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะช่วยความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการในระดับหนึ่ง โดยในช่วงแรก ธนาคารได้เริ่มให้บริการระหว่างเงินบาท กับเงินริงกิตของมาเลเซีย และเงินบาท กับเงินรูเปียะอินโดนีเซีย และอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะให้บริการเงินเยนต่อไป โดยได้เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา