“ทรีนีตี้” ชี้ปัจจัยต่างประเทศจะยังมีอิทธิพลหลักต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยในเดือนมิถุนายน ทั้ง Dot plot จากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะส่งสัญญานถึงความถี่ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยช่วงถัดไป ความวุ่นวายทางการเมืองในยุโรป โดยเฉพาะอิตาลีที่มีความเสี่ยงต่อการถอนตัวออกจากยูโรโซนมากขึ้น รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ยังคงมีความผันผวน แนะนักลงทุนถือหุ้นในพอร์ต และรอเพิ่มน้ำหนักหากดัชนีอ่อนตัวมาที่ระดับ 1,700 จุด หรือใกล้เคียง เลือก PTT และ CK เป็นหุ้น Top Pick
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือนมิถุนายนว่า คาดการณ์ SET Index จะแกว่งตัวในกรอบ 1,680-1,780 จุด โดยมีกรอบแนวรับที่ 1,700 และ 1,680 จุด ส่วนกรอบแนวต้านอยู่ที่ 1,750 และ 1,770 จุด
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่
1) การประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 12-13 มิถุนายน ซึ่งประเด็นสำคัญของการประชุมรอบนี้ไม่ได้อยู่ที่การขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นแน่นอนแล้ว 100% แต่จะอยู่ที่ Dot Plot ที่จะสะท้อนมุมมองการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกรรมการแต่ละท่าน ซึ่งล่าสุดในการประชุมเดือนมีนาคม มีกรรมการที่เห็นควรให้ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ทั้งหมด 3 ครั้ง และ 4 ครั้งอย่างละเท่าๆ กัน ด้วยเหตุนี้ หากค่ากลางของ Dot plot มีการขยับขึ้นในรอบนี้ มีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond yield) และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ตลาดยังไม่ได้ Price in มากนัก จนอาจส่งผลกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และกระแสเงินทุนต่างชาติในท้ายที่สุด
2) ความวุ่นวายทางการเมืองในยุโรป เริ่มจากอิตาลีที่ล่าสุด การจัดตั้งรัฐบาลมีทีท่าว่าจะล้มเหลว และอาจนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ และความเสี่ยงในการออกจากยูโรโซนที่มากขึ้น นอกจากนั้น เสถียรภาพทางการเมืองของสเปน ก็เริ่มสั่นคลอน ภายหลังจากที่ความเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรี Mariano Rajoy เริ่มลดลง ปัจจัยดังกล่าวทำให้ Bond yield และCDS Spread ของประเทศอิตาลี และสเปน ปรับตัวเพิ่มขึ้นทันที สร้างความกังวลว่าประเทศดังกล่าวโดยเฉพาะอิตาลี มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ล่าสุด Moodys ตัดสินใจปรับลดระดับเครดิตพินิจของอิตาลีลง และระบุว่า พร้อมจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ หากรัฐบาลชุดใหม่ของอิตาลีไม่สามารถดำเนินนโยบายการคลังที่จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศลดลงอย่างยั่งยืนได้
3) ทิศทางของราคาน้ำมันดิบ และการประชุม OPEC ในวันที่ 22 มิถุนายน ซึ่งในกรณีฐาน ทรีนีตี้ ประเมินว่า ที่ประชุมดังกล่าวจะยังคงยืนหยัดต่อข้อตกลงการลดกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งน่าจะช่วยลดทอนความกังวลของนักลงทุนต่อกระแสข่าวที่ว่า ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย เตรียมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงถัดไป ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นใหญ่ที่มีน้ำหนักต่อดัชนีในภาพรวม
4) การประกาศรายชื่อสมาชิกดัชนี SET50 รอบใหม่ช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งทรีนีตี้ ประเมินว่า หุ้นที่มีแนวโน้มถูกนำเข้าสู่ดัชนี SET50 ในรอบถัดไป ได้แก่ KTC, TOA, RATCH, BGRIM, ESSO ทั้งนี้ จากการศึกษาตั้งแต่ปี 2008 พบว่า หุ้นที่ถูกนำเข้ามักปรับตัว Outperform SET Index ตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าไปจนถึงวันมีผลบังคับใช้จริง ซึ่งรอบนี้ตรงกับวันที่ 2 กรกฎาคม ในทางตรงกันข้าม คาดการณ์หุ้นที่มีแนวโน้มถูกถอดออกจากดัชนี SET50 ในรอบถัดไป ได้แก่ WHA, TPIPP, BCP, PSH, KCE ทั้งนี้ พบว่าหุ้นที่ถูกถอดออกมักปรับตัว Underperform SET Index ตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าไปจนถึงวันมีผลบังคับใช้จริงเช่นกัน
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในรอบเดือนมิถุนายนนี้ แนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์ตั้งรับ โดยหลังจากที่เข้าซื้อหุ้นไปแล้วที่บริเวณดัชนี 1,750 จุด แนะนำให้นักลงทุน Wait & See และรอจังหวะเพิ่มน้ำหนัก หากดัชนีปรับตัวลงมาที่บริเวณกรอบ 1,700 จุด หรือใกล้เคียง
ทั้งนี้ หุ้นที่แนะนำให้ลงทุนประจำเดือนนี้ ได้แก่ PTT และ CK โดยสำหรับหุ้น PTT นั้น ประเมินว่าการตรึงราคาน้ำมันดีเซลจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ PTT ในปีนี้ โดยกองทุนน้ำมันยังสามารถที่จะตรึงราคาน้ำมันไว้ได้อย่างน้อย 7-15 เดือน ส่วนการตรึงราคา LPG ในระยะสั้นยังไม่กระทบต่อ PTT เช่นกัน เพราะเงินกองทุนยังสามารถตรึงราคาไว้ได้ราว 2 เดือน อย่างไรก็ตาม หาก PTT จำเป็นต้องเข้าไปช่วยตรึงราคาดีเซล และ LPG จะส่งผลกระทบต่อราคาเป้าหมายเพียงแค่ 5 บาทต่อหุ้นเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าราคาหุ้น PTT ที่ปรับฐานลงมา ด้วยเหตุนี้ ยังคงคำแนะนำซื้อที่ราคาเป้าหมาย 64.30 บาท ส่วน หุ้น CK นั้น มองว่ามีงานในมือในระดับสูงพร้อมจ่อเข้าเป็น Backlog รวมถึงเป้าหมายรายได้ 3 หมื่นล้านบาทในปีนี้น่าจะทำได้ไม่ยาก เนื่องจากงานในมือ ณ สิ้นไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท จึงยังคงคำแนะนำ ซื้อ ที่ราคาเป้าหมาย 32 บาท