xs
xsm
sm
md
lg

คลัง ปลื้มภาพรวมดัชนีชี้นำทาง ศก. ขยายตัวยกแผง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คลังเผยเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย. เติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่องจากไตรมาส 1 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และถือเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 58 ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกันในระดับสูงถึง 12.3% ต่อปี ขณะการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้ายังคงมีต่อเนื่องที่ระดับ 20.4% ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน เม.ย. 61 ขาดดุล 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนยอดนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเที่ยวไทยมีทั้งสิ้น 3.09 ล้านราย หรือขยายตัว 9.4% ทำให้ไทยมีรายได้ในภาคการท่องเที่ยวรวมในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา 1.57 แสนล้านบาท

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง แถลงภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเม.ย. 61 ว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่องจากไตรมาส 1 โดยมีเครื่องบ่งชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน สะท้อนได้จากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวสูงถึง 17.2% ต่อปี ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 60 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัว 4.9% ต่อเดือน เนื่องจากมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น และการจัดงานมอเตอร์โชว์เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.-ต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ณ ราคาคงที่ ในเดือน เม.ย. 61 กลับมาขยายตัว 7% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกจะขยายตัว 3.7% ต่อเดือน โดยการจัดเก็บจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยการจดเก็บ VAT จากฐานการนำเข้ากลับมาขยายตัวที่ 12.0% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวได้ดีที่ 17.6% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกจะขยายตัวได้ 7.2% ต่อเดือน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมจะอยู่ที่ระดับ 67.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และถือเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 58 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อสถานะการการส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยว ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 61 ซึ่งขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ 30.6% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัว 7.1% ต่อเดือน อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงถึง 12.3% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 2.0% ต่อเดือน และเป็นการขยายตัวได้ดีในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดีย CLMV สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่การขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้ายัง
คงต่อเนื่องที่ 20.4% ต่อปี

สินค้านำเข้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เชื้อเพลิง วัตถุดิบ และสินค้าทุน เป็นต้น ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน เม.ย. 61 ขาดดุล 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับสูง โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่ 9.6% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัว 6.1% ต่อเดือน
 
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมี 3.09 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องที่ 9.4% ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่มีสูงถึงร่วม 1 ล้านราย นอกจากนี้ สัดส่วนการจองห้องพักล่วงหน้า 3 เดือนของนักท่องเที่ยวตั้งเดือน มี.ค.-มิ.ย. จะมีราว 40.1% ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือน เม.ย. 61 จะมีทั้งสิ้น 1.57 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 12.5% ต่อปี ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 89.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากในเดือน เม.ย. มีวันทำการน้อยกว่าปกติเนื่องจากมีวันหยุดยาวต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับผู้ประกอบการได้เร่งผลิตไปแล้วในช่วงเดือนก่อนหน้า

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.1 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 41.2 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพ

ภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 215.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.5 เท่ารายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน ปี 2561


กำลังโหลดความคิดเห็น