xs
xsm
sm
md
lg

ยื่น 8 ข้อจี้ “ศิริ” รื้อโครงสร้างราคาพลังงาน ขู่ไม่ปฏิบัติเก้าอี้หลุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายผู้บริโภคตบเท้ายื่นข้อเสนอ 8 ข้อกระทรวงพลังงาน จี้ยุบกองทุนน้ำมันฯ-ยุติเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ ปรับปรุงราคาเอทานอล ฯลฯ ขีดเส้นให้เวลา 30 วันหากไม่ปฏิบัติย้ำชัดว่าเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ขู่ยื่น “บิ๊กตู่” ทบทวนตำแหน่ง รมว.พลังงาน



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันนี้ (13 มิ.ย.) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) นำโดย น.ส.บุญยืน ศิริธรรม และ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา และตัวแทนภาคประชาชนประมาณ 30 คนได้เดินทางมายังกระทรวงพลังงานเพื่อยื่นหนังสือซึ่งเป็นข้อเสนอที่จัดทำจากเวทีสภาผู้บริโภคต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานมารับหนังสือแทน รมว.พลังงาน

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ได้ยื่นข้อเสนอ 8 ข้อให้กระทรวงพลังงานพิจารณา โดยจะให้เวลา 30 วันหากไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทาง คอบช.จะกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวต่อไป โดยยืนยันว่าจะมีการติดตามเรื่องนี้จนกว่ารัฐจะมีการเปลี่ยนแปลง และยืนยันว่าโครงสร้างราคาพลังงานของไทยที่รัฐบาลอ้างว่าได้ดูแลประชาชนนั้นไม่เป็นความจริง เพราะรัฐบริหารโดยใช้เงินที่เก็บจากประชาชนมาจ่ายแทนผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีการเก็บเงินเพิ่มและลดการชดเชยจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินล่าสุดประมาณ 37 สตางค์ต่อลิตรนั้น มองว่าโครงสร้างพลังงานรวมถึงแอลพีจีมีการบิดเบือนโดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาบริหารไม่ได้อิงกลไกตลาดอย่างแท้จริง โดยมีการบริหารเงินจากกองทุนฯ ที่เก็บจากประชาชนมาจ่าย ซึ่งในฐานะที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เป็นประธาน กบง.ควรจะต้องพิจารณาทบทวนตามที่ได้เสนอ 8 ข้อ หากเพิกเฉยถือว่าเข้าข่ายทำหน้าที่บกพร่องเพราะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ก็อาจเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานต่อไป

“โรงแยกก๊าซที่รัฐเป็นเจ้าของซึ่งใช้ก๊าซอ่าวไทยแต่กลับไปอิงตลาดโลกทำให้ต้นทุนสูงโดยไม่จำเป็น แล้วยังใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ มาบริหารจัดการซึ่งเก็บจากผู้ใช้น้ำมันมาสต๊อกไว้ดูแลภาพรวมกลไกเสรีจริงๆ เราจึงไม่เคยเจอแต่เป็นกลไกบิดเบือน และแอลพีจีที่อิงตลาดโลกเป็นรายสัปดาห์ก็จะมีความถี่ของการเปลี่ยนแปลงที่บ่อยมากจึงควรเปลี่ยนแปลง” นายอิฐบูรณ์กล่าว

สำหรับข้อเสนอ 8 ข้อ ประกอบด้วย 1. ยกเลิกการใช้ราคาเสมือนนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ทั้งที่เป็นน้ำมันที่กลั่นในประเทศ และกำหนดให้น้ำมันหน้าโรงกลั่นใช้ราคาส่งออกเท่ากับที่โรงกลั่นส่งขายสิงคโปร์ซึ่งมีราคาต่ำกว่าที่ขายคนไทยประมาณ 2 บาท/ลิตร

2. ให้รัฐบาลปรับปรุงราคาเอทานอลซึ่งผลิตในประเทศ แต่มีราคาสูงเกินราคาตลาดโลก ควรกำหนดราคาเอทานอลโดยเทียบกับค่าความร้อนของเอทานอลที่ต่ำกว่าเบนซินประมาณ 30% เมื่อมีการปรับปรุงราคาเอทานอลที่กลั่นในประเทศให้มีประสิทธิภาพด้านราคาแล้วจะทำให้น้ำมันที่ผสมเอทานอลชนิดต่างๆ มีราคาถูกกว่าเบนซิน โดยไม่ต้องใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชย 3. ให้กำหนดราคาแอลพีจีที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ในประเทศตามราคาที่รัฐเคยกำหนด 333 เหรียญต่อตันโดยไม่ต้องนำเงินกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชย และให้ภาคครัวเรือนใช้ก่อนลำดับแรก

4. ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 5. ให้หยุดการเก็บเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อศึกษาว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไปในกองทุนดังกล่าว เนื่องจากกองทุนนี้มีเงินสะสมอยู่ 4.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากเกินไปจึงควรหยุดการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันที่อัตรา 10 สต./หน่วย เข้ากองทุนดังกล่าว 

6. ให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซ้ำซ้อน โดยให้จัดเก็บภาษี VAT จากเนื้อน้ำมันอย่างเดียว 7. ให้รัฐใช้ภาษีสรรพสามิตเพียงกลไกเดียวกันในการควบคุมราคาน้ำมันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนแทนกองทุนน้ำมันที่ถูกยกเลิกไป และ 8. เสนอให้รัฐตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเสมือนกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก่อนที่จะมีการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2565-66


กำลังโหลดความคิดเห็น