xs
xsm
sm
md
lg

จ่อยื่น ก.พลังงาน 13 มิ.ย.นี้ เลิกตั้งราคาน้ำมันอิงสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเทียม-ปรับลดเอทานอล-ยุบกองทุนเถื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เวทีสภาผู้บริโภคเตรียมยื่นข้อเสนอปฎิรูปราคาพลังงานต่อกระทรวงพลังงาน 13 มิ.ย.นี้ จี้เลิกตั้งราคาน้ำมันเท่าสิงคโปร์บวกค่านำเข้าเทียม ปรับราคาเอทานอลลงตามค่าความร้อน ตั้งเพดานราคาแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซไม่เกิน 333 ดอลลาร์ต่อตันตามเดิม พร้อมยกเลิกกองทุนน้ำมันที่ไร้กฎหมายรองรับ หยุดเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานที่มีมากเกินจำเป็น และตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติก่อนเปิดประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ



วันนี้ (7 มิ.ย.) เวทีสภาผู้บริโภคกรณีปัญหาราคาน้ำมันและแก๊สหุงต้ม จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) โดยมีผู้เสวนาทั้ง น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา สมุทรสงคราม และนายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต

น.ส.รสนากล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบยื่นหนังสือข้อเสนอปฏิรูปราคาน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อกระทรวงพลังงานในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้ คือ 1. ให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ราคาเสมือนนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ ทั้งที่เป็นน้ำมันที่กลั่นในประเทศและกำหนดให้น้ำมันหน้าโรงกลั่นใช้ราคาส่งออกเท่ากับที่โรงกลั่นส่งขายสิงคโปร์ซึ่งมีราคาต่ำกว่าที่ขายคนไทยประมาณ 2 บาท/ลิตร

2 .ให้รัฐบาลปรับปรุงราคาเอทานอลซึ่งผลิตในประเทศ แต่มีราคาสูงเกินราคาตลาดโลก ควรกำหนดราคาเอทานอลโดยเทียบกับค่าความร้อนของเอทานอลที่ต่ำกว่าเบนซินประมาณ 30% ดังนั้น ราคาเอทานอลจึงควรมีราคาต่ำกว่าเบนซินโดยเปรียบเทียบ 20-30% โดยอ้างอิงราคาในต่างประเทศ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างราคา 12-15 บาท เนื่องจากราคาเอทานอลในประเทศสูงกว่าราคาบราซิลถึง 9 บาท/ลิตร ซึ่งเมื่อมีการปรับปรุงราคาเอทานอลที่กลั่นในประเทศให้มีประสิทธิภาพด้านราคาแล้วจะทำให้น้ำมันที่ผสมเอทานอลชนิดต่างๆ มีราคาถูกกว่าเบนซิน โดยไม่ต้องใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชย

3. ในกรณีของก๊าซหุงต้มเป็นทรัพยากรที่มาจากอ่าวไทยทั้งหมด ซึ่งปริมาณที่ผลิตจากโรงแยกปีละ 3.8 ล้านตัน ครัวเรือนใช้อยู่แค่ 2.1 ล้านตันเท่านั้น เพราะฉะนั้น เพียงพอใช้ในภาคครัวเรือนอยู่แล้ว สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการไปยกเลิกเพดานยกเลิก 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือเฉลี่ย 10 บาท/กก. เราต้องการให้ราคานี้กลับมาใหม่ ให้ในส่วนของครัวเรือนได้ใช้ เป็นราคาของโรงแยกก๊าซ

4. ยกเลิกกองทุนน้ำมันที่ไม่มีกฎหมายรองรับในการเก็บเงินจากประชาชน เมื่อไม่ต้องชดเชยน้ำมันที่ผสมเอทานอลราคาแพงเกินจริง ทำให้กองทุนน้ำมันไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

5. ให้หยุดการเก็บเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อศึกษาว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไปในกองทุนดังกล่าว เนื่องจากกองทุนนี้มีเงินสะสมอยู่ 4.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากเกินไปจึงควรหยุดการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันที่อัตรา 10 สต./หน่วย เข้ากองทุนดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดภาระราคาน้ำมันลง ที่ผ่านมากองทุนนี้มีการใช้เงินกองทุนดังกล่าวไปอุดหนุนด้านไฟฟ้า

6. ให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ซ้ำซ้อน โดยให้จัดเก็บภาษี VAT จากเนื้อน้ำมันอย่างเดียว 7. ให้รัฐใช้ภาษีสรรพสามิตเพียงกลไกเดียวกันในการควบคุมราคาน้ำมันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนแทนกองทุนน้ำมันที่ถูกยกเลิกไป และ 8. เสนอให้รัฐตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเสมือนกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก่อนที่จะมีการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2565-66

“น้ำมันที่ลดลง 1 บาท เท่ากับมีเงินที่คืนสู่กระเป๋าประชาชน 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือ 100 ล้านบาท/วัน” ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น