บีโอไอหนุนผู้ผลิตไทยป้อนชิ้นส่วนอากาศยาน จับมือบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมอากาศยานและการบิน เช่น โบอิ้ง แอร์บัส โรลส์-รอยซ์ และบริษัทชิ้นส่วนอากาศยานจากทั่วโลก แจงนโยบายรัฐผลักดันไทยก้าวไปสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของภูมิภาค เปิดเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์ซ่อมอากาศยาน และเมืองการบินภาคตะวันออกในอีอีซี
นางสาวบงกช อนุโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมและสัมมนาอุตสาหกรรมอากาศยานและการซ่อมบำรุง และการจับคู่ธุรกิจ (Aerospace & MRO Summit Bangkok Plenary Conference) ว่า มีบริษัทชั้นนำทั้งในและจากต่างประเทศ เช่น โบอิ้ง แอร์บัสกรุ๊ป โรลส์-รอยซ์ ไทรอัมพ์กรุ๊ป และซีเนียร์ แอโรสเปซ เข้าร่วมพบปะและเจรจากับบริษัทรับช่วงการผลิตของไทยจำนวน 145 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้คัดเลือกมาจากบริษัทที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูงในการก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในอนาคต เช่น บริษัทไทยรุ่ง ยูเนียนคาร์ บริษัท แม่น้ำ สแตนเลส บริษัท โชคนำชัย ไฮเทค บริษัท สมบูรณ์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี และบริษัท ศรีไทย ออโตซีท เป็นต้น
ทั้งนี้ การสัมมนาเป็นเวทีการพบหารือระหว่างบริษัทชั้นนำกับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยร่วมกันเป็นครั้งแรก ซึ่งนอกจากมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจร่วมกันแล้ว บีโอไอยังได้ชี้แจงนโยบายของภาครัฐ และมีการบรรยายถึงโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมอากาศยานโดยบริษัทชั้นนำ ทั้งการรับจ้างผลิตแบบ OEMs และการซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมอากาศยานเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของภูมิภาคภายใต้การเชื่อมต่อระบบลอจิสติกส์ รองรับนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมอากาศยานและการซ่อมบำรุงจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จากการขยายตัวของจำนวนเที่ยวบิน การขนส่งสินค้า และจำนวนผู้โดยสาร ตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวในไทยที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการขยายเส้นทางการบินของสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งจะเพิ่มความต้องการใช้ชิ้นส่วนอากาศยาน และธุรกิจด้าน MRO (Maintenance, repair and Overhaul) หรือศูนย์ซ่อมอากาศยานและการบำรุงรักษามากยิ่งขึ้น
“การรับช่วงผลิตชิ้นส่วนอากาศยานมีเงื่อนไขและมาตรฐานสูงมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดการซื้อขายชิ้นส่วนของผู้ผลิตกับผู้ซื้อรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ผลิตไทยที่พัฒนาศักยภาพจนสามารถเดินหน้าไปสู่การผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเพื่อรองรับความต้องการของตลาดบ้างแล้ว เช่น บริษัท ซีซีเอส แอดวานซ์ ผลิตชิ้นส่วนโครงสร้างเครื่องบินและชิ้นส่วนใบพัดเครื่องยนต์ เป็นต้น ดังนั้น งานในวันนี้จึงเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ดีในการสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยได้มีโอกาสแสดงความพร้อม และศักยภาพการก้าวไปสู่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้บริษัทชั้นนำของโลกเกิดความมั่นใจต่อการดำเนินธุรกิจในไทย ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและอากาศยานในภูมิภาคต่อไป” นางสาวบงกชกล่าว
นางสาวบงกชกล่าวว่า กิจกรรมพบหารือและจับคู่ธุรกิจร่วมกันครั้งนี้มั่นใจว่าบริษัทรายใหญ่ต่างๆ จะได้จับมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีศักยภาพของไทยสำหรับรองรับความต้องการได้อีกมาก โดยภายหลังการจัดงานบีโอไอยังจะนำคณะบริษัทต่างๆ เดินทางไปเยี่ยมชมความพร้อมของศูนย์ซ่อมอากาศยานและเมืองการบินภาคตะวันออกในอีอีซีด้วย