ทอท.ปรับแผนพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 2 สลับเร่งก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านตะวันตกก่อน ส่วนอาคารด้านตะวันออก เลื่อนไปเป็นเฟส 4 แทน หลังประเมินพบมีปัญหากระทบบริการระหว่างก่อสร้าง โดยเตรียมเสนอ สศช.และครม.ขอปรับแผนใหม่ เหตุปรับสาระสำคัญแผน “นิตินัย” แจงไม่กระทบกรอบลงทุนและจะส่งผลให้งานเร็วขึ้น ยันเฟส 2 เสร็จกลางปี 63
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ว่า ขณะนี้ ทอท.ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนงานในส่วนของการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก (East-Wing) ที่จะรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน/ปี โดยจะปรับไปพัฒนาขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันตก (West-Wing) แทน มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและการลงทุนอยู่ในกรอบเดิม ซึ่ง ทอท.ได้เสนอเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของแผนสุวรรณภูมิ เฟส 2 โดยจะใช้เวลาในการปรับแบบ 2-3 เดือน คาดว่าจะเปิดประมูลและก่อสร้างได้ภายในปีนี้
ทั้งนี้ การปรับแผนงานดังกล่าวเพื่อลดปัญหาผลกระทบในการให้บริการระหว่างการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกตามแผนเดิม เพราะต้องปิดพื้นที่บางส่วนทำให้พื้นที่การให้บริการที่ลดลงประมาณ 30% ส่วนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกจะปรับไปทำในช่วงหลัง ซึ่งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) เสร็จแล้วจะแก้ปัญหาความแออัดและไม่กระทบต่อการให้บริการในระหว่างก่อสร้าง
สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ประกอบด้วย งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G), ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก), งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (ชั้น 2-4) และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานระบบย่อย), งานจ้างก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก อาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก, งานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค, งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) ขณะนี้การก่อสร้างเป็นไปตามแผน คาดจะแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2563 จากนั้นจะมดสอบระบบประมาณ 6 เดือน เปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2564
สำหรับแนวคิดในการขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออก เป็นแนวคิดเดิมที่ต้องการขยายเพื่อรองรับเที่ยวบินภายในประเทศ แต่เมื่อสายการบินต้นทุนต่ำย้ายไปให้บริการที่สนามบินดอนเมืองทำให้ปัจจุบัน สุวรรณภูมิมีเที่ยวบินระหว่างประเทศมาก ดังนั้น แม้ว่าปริมาณเที่ยวบินจะเพิ่มไม่มากแต่จำนวนผู้โดยสารมาก เพราะสายการบินจะใช้เครื่องบินขนาดใหญ่กว่าสายการบินในประเทศ
ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยน พื้นที่ด้านตะวันออกของอาคารผู้โดยสารหลักเป็นจุดทางเข้าของสนามบิน จะมีรถมาส่งผู้โดยสาร หากมีการก่อสร้างในบริเวณนั้นจะมีรถบรรทุกเข้าออกมาก เพราะต้องขุดดินลึก 12 เมตรในการทำฐานราก จะมีดินปริมาณหลายแสนคิวขนออกจากพื้นที่ การจราจรมีปัญหาแน่นอน ขณะที่ประเมินจำนวนผู้โดยสารปัจจุบันมีถึง 60 ล้านคนต่อปี คาดว่าอีก 3 ปี ผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 68 ล้านคน จะปิดพื้นที่เพื่อก่อสร้างไม่ได้
ขณะที่การย้ายมาก่อสร้างอาคารอาคารผู้โดยสารด้านตะวันตก (West-Wing) ก่อน ซึ่งอยู่ด้านขาออกของอาคารผู้โดยสาร จะมีผลกระทบต่อพื้นที่การให้บริการในปัจจุบันน้อยมาก ขณะที่สามารถเริ่มงานได้เลยเมื่อผ่าน ครม.และปรับแบบเสร็จ เพราะแผนงานมีความอิสระไม่ผูกกับงานก่อสร้างส่วนอื่น อีกทั้งไม่ต้องทำรายงาน EIA ใหม่
ทั้งนี้ เฟส 2 เดิมจะมีอาคารตะวันออก รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปี ส่วนเฟส 3 จะมีอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) ตั้งอยู่บริเวณปลาย Concourse A ของอาคารหลังปัจจุบัน พื้นที่รวมประมาณ 348,000 ตร.ม. รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 90 ล้านคน/ปี
ส่วนอาคารตะวันตก จะอยู่ในเฟส 4 เมื่อกลับด้านทำอาคารตะวันตกในเฟส 2 ดังนั้น การขยายอาคารด้านตะวันออกยังมีเวลาที่จะก่อสร้าง โดยรอจังหวะที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อการให้บริการได้
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่การพัฒนาเฟส 2 ยังไม่แล้วเสร็จ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อความสะดวกสบายของผู้โดยสาร คาดว่าจะสามารถเปิดใช้บริการได้ในปลายปี 2561 โดยจะมีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณฝั่งทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร ชั้น 4 บริเวณพื้นที่เคาน์เตอร์เช็กอิน Row A และ First Class Lounge ซึ่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะทำการคืนพื้นที่ให้กับทาง ทอท. และจะมีการย้ายจุดตรวจค้นผู้โดยสารและสัมภาระผู้โดยสารภายในประเทศ ท้ายเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร Row B-C ซึ่งเดิมมีจุดตรวจค้นจำนวน 6 ช่องตรวจ เมื่อย้ายไปยังอาคารเทียบเครื่องบิน A และ B ชั้น 3 จะทำให้มีจุดตรวจค้นเพิ่มขึ้นเป็น 12 ช่องตรวจ เมื่อย้ายจุดตรวจค้นผู้โดยสารภายในประเทศไปแล้วจะทำให้มีพื้นที่บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศ บริเวณฝั่งทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร ชั้น 4 เพิ่มขึ้นจาก 100 ตารางเมตรเป็น 1,000 ตารางเมตร รวมถึงเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกสบายอื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย