การบินไทย จับมือ โรลส์-รอยซ์ จัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์ Rolls Royce TRENT 700 และ TRENT 1000 ที่ดอนเมือง คาดมีรายได้เพิ่มอีก 4-5 พันล้านต่อปี เผยเครื่องบินแอร์บัส A330 และ โบอิ้ง B787 ยังครองตลาด เชื่อดันศูนย์ซ่อมเครื่องบินในภูมิภาคครบวงจร
วันนี้ (7 มิ.ย.) นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานลงนามความร่วมมือสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ของการบินไทย ระหว่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โรลส์-รอยซ์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ของการบินไทยเพื่อขยาย TRENT CareNetwork โดยใช้โรงซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อากาศยานของการบินไทยที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยการบินไทยจะเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์ (Authorized Maintenance Center) ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ สำหรับเครื่องยนต์รุ่น TRENT ซึ่งจะส่งผลให้การบินไทยสามารถรองรับการขยายฝูงบินของเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ได้เพิ่มมากขึ้นภายใต้ Rolls-Royce service network ซึ่งปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินลำตัวกว้างที่อยู่ในฝูงบินประมาณ 80 ลำ ซึ่งมีเครื่องบินใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์มากกว่า 50 ลำ
นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ และ บริษัท โรลส์-รอยซ์ ได้ลงนามความร่วมมือสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ของการบินไทย เพื่อพัฒนาและขยายโรงซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อากาศยานของการบินไทยที่ท่าอากาศยานดอนเมืองให้สามารถซ่อมเครื่องยนต์ Rolls Royce TRENT 700 ใช้กับเครื่องบินแอร์บัส A330 และ TRENT 1000 ใช้กับเครื่องบินโบอิ้ง B787 ตอบสนองความต้องการของตลาดที่ฝูงบินใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์เพิ่มขึ้นภายใต้ Roll-Royce service nework เป็นการใช้ประโยชน์โรงซ่อมอย่างคุ้มค่า และสร้างผลตอบแทนให้บริษัทฯ เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สนองต่อนโยบายของรัฐและเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต หรือ New Growth Engine ซึ่งจะช่วยสนับสนุนโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศในด้านการซ่อมเครื่องยนต์อากาศยานที่มีความซับซ้อนและต้องใช้ความรู้ รวมทั้งเทคโนโลยีขั้นสูง สร้างขีดความสามารถของประเทศทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการบินให้เป็นหนึ่งในภูมิภาค
นายสุรชัย เพียรเจริญศักดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายช่าง บริษัท การบินไทย กล่าวว่า คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยในปีแรกจะเป็นการลงทุนในการฝึกอบรมบุคลากร และลงทุนเครื่องมือใช้ในการถอดประกอบ วงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทเพื่อรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ TRENT 1000 ก่อน และใน 3 ปีจะพัฒนาไปถึงเครื่องยนต์ TRENT 700
โครงการนี้จะทำให้การบินไทยเริ่มมีรายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/2561 แต่อาจจะยังไม่มาก และในปี 2562 คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท และหากพัฒนาให้สามารถซ่อมเครื่องยนต์ได้ครบทั้ง 2 รุ่นแล้ว ซึ่งมีขีดความสามารถซ่อมบำรุงได้ 30-50 เครื่องยนต์ต่อปี การบินไทยจะมีรายได้จากธุรกิจนี้ประมาณ 4,000-5.000 ล้านบาทต่อปี และจะขยายการรองรับได้สูงสุดถึง 80 เครื่องยนต์ ซึ่งจะต้องมีการลงทุนเพิ่ม โดยจะมีการศึกษารุปแบบการร่วมทุนที่เหมาะสมด้วย
ทั้งนี้ ที่สนามบินดอนเมือง การบินไทยมีพื้นที่ด้านซ่อมบำรุงประมาณ 250,000 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ประมาณ 50,000-60,000 ตารางเมตร ขณะที่บุคลากรของฝ่ายช่างมีทั้งหมด 3,500 คน ซึ่งช่วงแรกที่จะรองรับการซ่อมที่ 30 เครื่องยนต์ต่อปี ต้องการบุคลากรเพิ่มอีกประมาณ 50-60 คน ในชั้นแรกจะโอนย้ายจากพนักงานส่วนอื่นมาก่อน หากไม่พอจะรับเพิ่ม
“ปัจจุบันการบินไทยมีรายได้จากการซ่อมบำรุงประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี เติบโตประมาณ 5% ต่อปี ซึ่งความร่วมมือนี้จะทำให้รายได้ของฝ่ายช่างเติบโตมากขึ้น คาดว่าปี 2562 รายได้จะเติบโตอย่างน้อย 10%”
ด้านนายคริส ชอร์ตั้น ประธานด้านการบินพลเรือน บริษัท โรลส์-รอยซ์ กล่าวว่า โรลส์-รอยซ์จะร่วมมือพัฒนาโรงงานซ่อมบำรุงของการบินไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะซ่อมบำรุงฝูงบินของการบินไทยเองแล้ว จะให้บริการสายการบินลูกค้าเพื่อสร้างรายได้ให้การบินไทยอีกด้วย ซึ่ง IATA คาดว่าในปีนี้การเดินทางทางอากาศจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% สูงกว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมาถึง 1.5% และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตถึง 9.5%