“อาคม” ต่อรองรถร่วมฯ ขสมก.เบรกขึ้นราคา ขอเวลา 2 เดือนศึกษาโครงสร้างต้นทุน หาทางชดเชยต้นทุนเพิ่ม เร่ง ขสมก.หาทางออกหนี้ค่าตอบแทน 800 ล้านช่วงเปลี่ยนถ่ายสู่การปฏิรูปรถเมล์ เจรจา ก.พลังงานเพิ่มวงเงินบัตรเครดิต NGV ด้านผู้ประกอบการกัดฟัน หวังอีก 2 เดือนรัฐมีทางออก หลังทนแบกต้นทุนหลังแอ่นเพื่อช่วยบริการประชาชน
วันนี้ (31 พ.ค.) นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (รถร่วม ขสมก.) พร้อมสมาชิกจำนวนมากได้เข้าร่วมประชุมกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือถึงมาตรการเยียวยาชดเชยเอกชนกรณีต้นทุนในการให้บริการเพิ่มขึ้น โดยมีผู้บริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และกรมธุรกิจพลังงาน เข้าร่วมหารือ
นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถร่วมฯ ขสมก.กล่าวว่า ได้รับความเดือดร้อนจากภาระค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายให้ ขสมก. เป็นหนี้กว่า 800 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนกลายเป็นจำเลยสังคม กรณีรถไม่ดี บริการไม่ดี ขณะที่ภาครัฐห้ามปรับค่าโดยสารให้สอดคล้องกับต้นทุนและกลไกตลาด อีกทั้ง ขสมก.ยังเรียกเก็บค่าตอบแทน และคู่แข่งของเอกชนคือ ขสมก.ที่มีรัฐบาลจัดงบประมาณอุดหนุน ยืนยันว่าผู้ประกอบการพร้อมเข้าหาแหล่งเงินลงทุนเพื่อเข้าสู่การปฏิรูป แต่แผนของรัฐไม่ชัดเจน
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเดือดร้อนมาก ทำธุรกิจ บริการช่วยรัฐ จึงขอเก็บค่าโดยสารในอัตราที่เป็นธรรม และสอดคล้องกับต้นทุน ซึ่งการปรับค่าโดยสารล่าสุดเมื่อ 10 ก.พ. 2558 สมัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็น รมว.คมนาคม อนุมัติขึ้น 1 บาท รถร้อนจาก 8 บาท เป็น 9 บาท ซึ่งขณะนั้นถือว่าช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแต่ยังไม่ครอบคลุมต้นทุนจริง โดยขอเวลาศึกษาโครงสร้างต้นทุนอีก 2 เดือนจนถึงวันนี้ไม่มีความคืบหน้า ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดราคาก๊าซ NGV ปรับขึ้นอีก 0.62 บาทต่อ กก. และก่อนหน้านั้นยังมีค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มเป็น 325 บาท
จึงต้องเสนอกระทรวงคมนาคมช่วยเยียวยาและชดเชยภาระที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ เช่น ผ่อนผันการจ่ายค่าตอบแทนไปก่อนจนกว่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูปรถเมล์ และแก้ปัญหาหนี้ค่าตอบแทนที่ ขสมก.เรียกเก็บย้อนหลัง ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่เป็นธรรม เพราะเกิดจากการชะลอปรับค่าโดยสารของภาครัฐ และขอให้รัฐช่วยขยายวงเงินในบัตรเติมก๊าซ NGV ที่ราคา 10.67 บาทต่อ กก. วงเงินที่ 35,000 บาทต่อคันต่อวัน ออกไปเป็น 4-5 หมื่นบาทต่อคันต่อวัน ซึ่งผู้ประกอบการรอได้ 2 เดือนยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม แต่หากไม่สามารถชดเชยใดๆ ได้ ผู้ประกอบการจะต้องปรับค่าโดยสารขึ้น 4 บาทเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุน และลดการขาดทุน
ด้าน ขสมก.ชี้แจงว่า การผ่อนผันอัตราค่าตอบแทน หรือส่วนแบ่งรายได้จากรถเมล์ร้อนเก็บในอัตรา 15 บาท/คัน/วัน รถปรับอากาศ เก็บในอัตรา 30 บาท/คัน/วัน มีระยะ 3 ปี สิ้นสุดเมื่อ พ.ย. 2559 ซึ่งหลังจากนั้นบอร์ด ขสมก.พิจารณาว่าเป็นอัตราที่ต่ำเกินไปให้กลับมาเก็บอัตราเดิม รถร้อน เริ่มต้น 75 บาท/คัน/วัน รถปรับอากาศ 198-305 บาท ส่วนหนี้ค่าตอบแทนเดิม บอร์ด ขสมก.ได้พิจารณาจะประนอมหนี้ช่วงเปลี่ยนถ่าย ซึ่งจะมีการพิจารณาต่อหลังจากมีการตั้งบอร์ดชุดใหม่
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการว่าขณะนี้จะยังไม่มีการปรับค่าโดยสาร ส่วนกรณีผู้ประกอบการรถร่วมฯ ขสมก.ได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซ NGV เพิ่มนั้นมีกองทุนดูแลอยู่ ขณะนี้ให้รอการศึกษาโครงสร้างต้นทุนของกรมการขนส่งทางกบ (ขบ.) และการปฏิรูปรถเมล์อีก 2 เดือน โดยได้เร่งรัดบอร์ด ขสมก.ให้พิจารณาแก้ปัญหาหนี้ค่าตอบแทนที่ค้างชำระ และการขอยกเว้นหรือผ่อนผันอัตราค่าตอบแทนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในช่วงที่ไม่สามารถปรับค่าโดยสารชดเชยให้ได้ รวมถึงหารือกับ ปตท.ในเรื่องราคาก๊าซและเครดิตไลน์เติมก๊าซ NGV
“ต้องขอร้องผู้ประกอบการ อะไรที่รัฐช่วยได้จะพยายามพิจารณา ซึ่งจะต้องนำข้อมูลมากางให้เกิดความชัดเจนก่อนตัดสินใจ” นายอาคมกล่าว