xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” จี้ ขสมก.ปรับปรุงคุณภาพ ทดสอบรถไฮบริดก่อนจัดเข้าแผนหารถใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อาคม” ยันไม่มีการปรับค่าโดยสารรถเมล์-บขส.หลังราคาน้ำมันเริ่มลง ขณะที่ คนร.ปรับแผนจัดหารถเมล์ใหม่ จี้บอร์ดใหม่ปรับปรุงประสิทธิภาพ เร่งเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ล่าสุดรับมอบรถไฮบริดจากฮีโน่ 1 คันทดลองวิ่ง เก็บข้อมูล 4 เดือน ประเดิมสายแรก A1 (ดอนเมือง-หมอชิต 2)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีส่งมอบรถโดยสารปรับอากาศชานต่ำยี่ห้อฮีโน่ ระบบดีเซลและไฟฟ้า (Hybrid) ในโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) จำนวน 1 คัน มาทดลองวิ่งให้บริการประชาชนในเส้นทางเดินรถของ ขสมก.เป็นระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน 2561 ใน 7 เส้นทางการเดินรถ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงาน และสมรรถภาพของรถโดยสาร โดยเก็บค่าโดยสารตามอัตราปกติ

ทั้งนี้ บริษัท ฮีโน่ฯ ยินดีโอนกรรมสิทธิ์รถโดยสารคันดังกล่าวให้กับ ขสมก.โดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อนำไปวิ่งให้บริการประชาชนในระยะยาวต่อไป และเป็นรถที่สามารถรองรับน้ำมันดีเซล บี20 ได้อีกด้วย

***ชะลอการปรับค่าโดยสารถเมล์, รถ บขส. หลังราคาน้ำมันเริ่มลง

นายอาคมกล่าวว่า กรณีผู้ประกอบการรถร่วมฯ ขสมก.ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและก๊าซ NGV ปรับตัวเพิ่มขึ้น และต้องการยื่นข้อเสนอปรับค่าโดยสารนั้น เบื้องต้นต้องรอฟังข้อเสนอของผู้ประกอบการรถร่วมฯ ขสมก.ก่อน ซึ่งนโยบายของกระทรวงคมนาคมในขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาปรับค่าโดยสารให้ โดยในส่วนของรถร่วมฯ บขส.จะต้องรอผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนเสร็จก่อน ส่วนรถร่วมฯ ขสมก.ยังมีปัจจัยต้นทุนอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาร่วม ส่วนราคาก๊าซ NGV ที่เพิ่มขึ้นมีกองทุนพลังงานช่วยดูแลอยู่ ทั้งนี้ ได้เร่งรัดให้บอร์ด ขสมก.พิจารณาเรื่องหนี้ค่าตอบแทนของผู้ประกอบการให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว

**** คนร.ปรับแผนจัดหารถเมล์ใหม่ เร่งเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย

สำหรับแผนฟื้นฟู ขสมก.นั้น นายอาคมกล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้พิจารณาแผนและให้แนวคิดการใช้พลังงานที่หลากหลาย ซึ่งการจัดหารถ ขสมก.จะพิจารณาประเภทเชื้อเพลิงที่เหมาะสม รวมถึงการผลิตและประกอบในประเทศ โดยใช้วัสดุในประเทศมากที่สุด

แผนฟื้นฟูได้เสนอจัดหารถ 3,623 คัน ซึ่ง คนร.มีความเห็นปรับลดเหลือ 3,000 คัน โดยล็อตแรกได้มีการจัดหารถโดยสารใช้ก๊าซ NGV จำนวน 489 คันไปแล้ว ที่เหลือ 2,511 คัน (เป็นการปรับปรุงรถเก่า 323 คัน และจัดหารถใหม่เพื่อทดแทนรถเก่าอีก 2,188 คัน) โดยในส่วนของการจัดหารถใหม่จะพิจารณาสัดส่วน ทั้งรถเครื่องยนต์ดีเซล, รถไฮบริด,รถไฟฟ้า (EV)

นายอาคมกล่าวว่า ได้ให้นโยบายต่อคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก.ที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ ที่มีนายณัฐชาติ จารุจินดา เป็นประธานว่า ขสมก.จะต้องปรับบทบาทจาก เดิมที่เป็นทั้งผู้กำกับ ดูแล (Regulator) และผู้ปฏิบัติ (Operator) มาเป็น Operator อย่างเดียวหลังการปฏิรูปรถเมล์เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และยังต้องเป็นระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) ดังนั้น ขสมก.จะต้องมีมาตรฐานการให้บริการ ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการให้บริการ ทั้งระบบ E -Ticket และรถรุ่นใหม่

ส่วนฐานะการเงินต้องปรับปรุง จะต้องเพิ่มรายได้ เช่นการเดินรถในเส้นทางใหม่เชื่อมกับสนามบิน ซึ่งสามารถกำหนดค่าโดยสารอัตราพิเศษได้ โดยเป็นบริการที่ได้รับความนิยม และเน้นการลดรายจ่ายเพื่อให้มีประสิทธิภาพ

สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ใหม่อย่างรอบคอบ ส่วนกรณีรถ NGV 489 คัน เนื่องจากยังติดคำสั่งศาล ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งและขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ขสมก. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ขสมก.มีรถโดยสารประจำทางวิ่งให้บริการประชาชนจำนวน 2,674 คัน ซึ่งรถโดยสารส่วนใหญ่ใช้ระบบเครื่องยนต์ดีเซล อายุใช้งาน19-27 ปี สภาพเก่า ทำให้มีต้นทุนการเดินรถและค่ามลพิษทางไอเสีย (CO2) ค่อนข้างสูง ขสมก.จึงร่วมมือกับบริษัท ฮีโน่ฯ และ JICA นำรถโดยสารปรับอากาศชานต่ำยี่ห้อฮีโน่ ระบบดีเซลและไฟฟ้า (Hybrid) จำนวน 1 คัน มาทดลองวิ่งให้บริการประชาชนในเส้นทางเดินรถของ ขสมก.เป็นระยะเวลา 4 เดือน ใน 7 เส้นทาง ได้แก่

1. สาย A1 (ดอนเมือง-หมอชิต 2) วิ่งระหว่างวันที่ 16-30 มิถุนายน 2561
2. สาย 510 (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยฯ) วิ่งระหว่างวันที่ 1-15 กรกฎาคม 2561
3. สาย 522 (รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยฯ) วิ่งระหว่างวันที่ 16-31 กรกฎาคม 2561
4. สาย 145 (อู่เมกาบางนา-หมอชิต 2) วิ่งระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2561
5. สาย 511 (ปากน้ำ-สายใต้ใหม่) วิ่งระหว่างวันที่ 16-31 สิงหาคม 2561
6. สาย 138 (พระประแดง-หมอชิต 2) วิ่งระหว่างวันที่ 1-15 กันยายน 2561
7. สาย 140 (แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยฯ) วิ่งระหว่างวันที่ 16-30 กันยายน 2561

นายชิน นาคามูร่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทฮีโน่มอเตอร์เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เมื่อ 2 ปีก่อนฮีโน่ฯ ได้นำรถโฮบริดมาให้ ขสมก.ทดลองวิ่งใน 12 เส้นทาง ซึ่งได้ผลน่าพอใจทั้งเรื่องประหยัดเชื้อเพลิงและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยฮีโน่ได้ผลิตและประกอบรถคันล่าสุดในประเทศไทย ใช้ตัวถัง แชสซีส์ และช่วงล่างภายในประเทศ ส่วนเครื่องยนต์ เกียร์ แบตเตอรี่ นำเข้า ต้นทุนยังไม่ชัดเจน ประเมินเฉลี่ยประมาณ 8 ล้านบาทต่อคัน ซึ่งต่ำกว่าการนำเข้า ขณะที่สามารถใช้วัสดุชิ้นส่วนภายในประเทศไทยมากกว่า 60% โดยกำลังการผลิตของฮีโน่ประมาณ 35-40 คันต่อเดือน ซึ่งฮีโน่ฯ มีนโยบายในการผลิตและบริการด้านการซ่อมบำรุงให้อีกด้วย

สำหรับรถโดยสารปรับอากาศชานต่ำยี่ห้อฮีโน่ ระบบดีเซลและไฟฟ้า (Hybrid) ดังกล่าวเป็นรถที่ผลิตและประกอบภายในประเทศไทย ขนาด 12 เมตร 35 ที่นั่ง เครื่องยนต์ขนาด 250 แรงม้า ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลและมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 90 กิโลวัตต์ สามารถประจุไฟได้เองโดยไม่ต้องพึ่งสถานีประจุไฟฟ้า อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และปริมาณการปล่อยมลพิษจากไอเสีย (CO2) เมื่อเปรียบเทียบกับรถโดยสารระบบดีเซล พบว่ามีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 3.5 กิโลเมตร/ลิตร ประหยัดกว่ารถโดยสารระบบดีเซล 2 เท่า มีปริมาณการปล่อยมลพิษจากไอเสีย (CO2) 76,926 กิโลกรัม/ปี ต่ำกว่ารถโดยสารระบบดีเซล 48.56%

ทั้งนี้ ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้บริการ สอบถามเส้นทางรถเมล์ หรือแนะนำบริการได้ที่ www.bmta..th. Facebook bmta@bmta..th หรือศูนย์ call center 1348 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น.



กำลังโหลดความคิดเห็น