“พาณิชย์” ยันขึ้นราคาก๊าซหุงต้มกระทบต้นทุนอาหารจานด่วนแค่ 15-20 สตางค์ ใช้เป็นข้ออ้างขึ้นราคาไม่ได้ ส่วนขึ้นค่าขนส่ง 5% มีผลต่อต้นทุนสินค้าแค่ 0.0032-0.4853% เตรียมนัดซัปพลายเออร์หารือสถานการณ์อีกครั้ง หวังขอชะลอปรับราคา
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ศึกษาผลกระทบของการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ขนาดถัง 15 กก. จาก 353 บาทต่อถัง เป็น 395 บาทต่อถัง หรือปรับเพิ่มขึ้น 42 บาทต่อถัง พบว่าส่งผลให้ต้นทุนอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแค่ 15-20 สตางค์ต่อจานต่อชาม จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการหรือพ่อค้าแม่ค้าที่ประกอบอาหารปรุงสำเร็จจะใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคา เพราะราคาก๊าซหุงต้มที่เพิ่มขึ้นกระทบต้นทุนน้อยมาก
“ราคาก๊าซหุงต้มที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ขึ้นแค่หลักสตางค์ จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาใช้ปรับขึ้นราคา และยิ่งจะมีการปรับขึ้นทีละ 5 บาท โดยอ้างว่าก๊าซหุงต้มแพง ยิ่งไม่ได้ ถือว่าไม่สมเหตุสมผล ซึ่งกรมฯ จะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจออกตรวจสอบราคาจำหน่ายอาหารจานด่วนในท้องตลาด รวมทั้งจะมีการติดตามการจำหน่ายก๊าซหุงต้มอย่างใกล้ชิดด้วย” นายบุณยฤทธิ์กล่าว
สำหรับการวิเคราะห์ต้นทุนจากการที่ผู้ประกอบการขนส่งจะปรับขึ้นราคาค่าขนส่งอีก 5% นั้น พบว่ากระทบราคาขายปลีกสินค้าตั้งแต่ 0.0032-0.4853% โดยสินค้าที่กระทบน้อยสุด คือ ผ้าอนามัย และสูงสุดคือ ปูนซีเมนต์ ส่วนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กระทบตั้งแต่ 0.0178-0.2772% โดยปลากระป๋องได้รับผลกระทบต่ำสุด และนมถั่วเหลืองสูงสุด และกลุ่มปัจจัยการเกษตร เช่น ยาปราบศัตรูพืช กระทบ 0.0848% ปุ๋ยเคมี กระทบ 0.2452% เป็นต้น จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ผลิตสินค้าจะใช้เป็นข้ออ้างในการปรับขึ้นราคาสินค้าเพราะกระทบต้นทุนไม่มาก
อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะหารือกับผู้ผลิตสินค้า (ซัปพลายเออร์) ภายในสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้าเพื่อติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า หลังจากมีแรงกดดันทั้งการปรับขึ้นค่าขนส่ง และการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล โดยจะขอความร่วมมือให้ชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าเอาไว้ก่อน หากต้นทุนไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถรับได้