กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จับมือ ส.อ.ท.ตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อขับเคลื่อนงาน 4 ด้านตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ทั้ง การพัฒนาเกษตรด้วย STI การพัฒนาทักษะคน การเปลี่ยนผ่านสตาร์ทอัพสู่ 4.0 และการสร้างอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต จ่อนัดถกรายละเอียดอีกรอบ 5 มิ.ย. พร้อมสั่งปั้นเอสเอ็มอี 5 พันรายด้านนวัตกรรม
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่ากระทรวงฯ จะตั้งคณะทำงานร่วมกับ ส.อ.ท.เพื่อขับเคลื่อนนโยบายหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1. การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STI) เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็น Smart Farming 2. ศูนย์พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (STEM Academy) เพื่อพัฒนาทักษะคนในภาคอุตสาหกรรม (Reskill/Unskill) ให้สอดรับกับอุตสาหกรรมในอนาคต 3. การเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการใหม่ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ 4. การสร้างอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต โดยภายใน 2 สัปดาห์หรือ 5 มิ.ย.จะกลับมาหารือในรายละเอียด
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ ส.อ.ท.ไปพิจารณาคัดเลือกวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.ประมาณ 5,000 รายที่จะมุ่งเน้นให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ด้านนวัตกรรม หรือ Starttech ที่จะต่างไปจากกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อที่จะให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท.กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ศตวรรษที่ 21 และตอบโจทย์ไทยแลนด์ 40 โดยในส่วนของการทำงานได้มีการตั้งคณะทำงาน 4 กลุ่มขึ้นมาดูแลใน 4 ด้านโดยส่วนของการพัฒนาสตาร์ทอัพไปสู่ 4.0 จะมีการพิจารณากับกระทรวงวิทย์ฯ ในการตั้งศูนย์บ่มเพาะขึ้น (The Industry Innovation Transform Entrepreneur Center) ครอบคลุม 4 กลุ่ม คือ กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ 500 ราย กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ และกลุ่มสตาร์ทอัพที่เน้นนวัตกรรม 300 ราย
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การพัฒนาคนมุ่งรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระยะเร่งด่วนจะหารือกับกระทรวงวิทย์ฯที่จะปรับคูปองนวัตกรรมมาเป็นคูปองในการนำมาพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานซึ่งประเทศสิงคโปร์เองก็ทำเช่นนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็ว รวมถึงการจัดทำ Big Data ร่วมกัน
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช รองประธาน ส.อ.ท.งานสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า จะทำงานร่วมกันเพื่อจัดหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องการสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตซึ่งบางอย่างต้องให้รัฐประสานงานในการนำมาต่อยอดการพัฒนา เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) อุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งในอีก 3-4 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีเหล่านี้มาแน่นอนซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้แม้ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายแต่จะเน้นเจาะลึกมากขึ้น
นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธาน ส.อ.ท.และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรกล่าวว่า จะมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมระบบดิจิทัลเข้ามาสู่กระบวนการผลิตและปรับเปลี่ยนไปสู่ Smart Farming ซึ่งได้เสนอที่จะพัฒนาการยืดอายุผักผลไม้สดที่มีมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก การพัฒนาไม้ปาล์มไปสู่การผลิตเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น