xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” แนะใช้สิทธิ FTA ส่งออกเกาหลีใต้ เพิ่มขีดแข่งขันสินค้าไทยเหนือคู่แข่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยการค้าไทย-เกาหลีใต้ช่วง 2 เดือนมีมูลค่า 2,290 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 20.6% เป็นการส่งออกโดยใช้สิทธิ FTA มูลค่า 468 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 87% ของมูลค่าส่งออกที่ได้รับสิทธิ แนะผู้ส่งออกเร่งใช้สิทธิเพื่อเพิ่มขีดแข่งขันให้สินค้าไทยเหนือคู่แข่ง เตรียมใช้หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดึงเกาหลีลงทุนไทยเพิ่ม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ในช่วง 2 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่า 2,290.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.6% โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 756.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากเกาหลีใต้ 1,533.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และในจำนวนนี้เป็นการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-เกาหลีใต้ มีมูลค่า 468.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 87% ของมูลค่าการส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 383.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 25% ของมูลค่านำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิ

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเกาหลีใต้ ได้แก่ เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยางพารา และสินค้านำเข้าของไทยจากเกาหลีใต้ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน

“กรมฯ ขอให้ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิ FTA ในการส่งออก เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าไทยเหนือประเทศคู่แข่ง หรือใช้สิทธิ FTA ในการนำเข้าสินค้า เพื่อให้ต้นทุนสินค้าถูกลง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ โดยตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีของเกาหลีใต้ได้ที่ http://tax.dtn.go.th เพื่อวางแผนในการส่งออกหรือนำเข้า และยังสามารถตรวจสอบอัตราภาษีได้ทุกข้อตกลง FTA ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ด้วย” นางอรมนกล่าว

นางอรมนกล่าวว่า เกาหลีใต้ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีงานสร้างสรรค์ นวัตกรรม โดยเฉพาะด้านวิศวกรรม ด้านไอที เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง และอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งกรมฯ มีแผนที่จะใช้ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจขยายความร่วมมือกับเกาหลีใต้ เพื่อดึงดูดนักลงทุนเกาหลีใต้ให้เข้ามาร่วมลงทุนในไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสที่จะก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสินค้าและบริการของไทย และช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับไทย

ทั้งนี้ ข้อตกลง FTA ไทย-เกาหลีใต้ หรือ AKFTA มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 จนถึงปัจจุบันไทยได้ลดภาษีสินค้าในกลุ่มสินค้าปกติเหลือ 0% ไปแล้ว จำนวน 8,455 รายการ คิดเป็น 88% ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยยังคงเหลือกลุ่มสินค้าอ่อนไหวที่ยังไม่มีการลดภาษีจำนวน 1,155 รายการ หรือ 12% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ส่วนประกอบวิทยุ โทรทัศน์ แผ่นเหล็กรีดร้อน และส่วนประกอบยานยนต์ ขณะที่เกาหลีใต้ได้ลดภาษีสินค้าในกลุ่มสินค้าปกติเหลือ 0% แล้ว จำนวน 11,297 รายการ คิดเป็น 90.9% ของรายการสินค้าทั้งหมด และยังคงเหลือกลุ่มสินค้าอ่อนไหวที่ยังไม่มีการลดภาษี จำนวน 1,130 รายการ หรือ 9.1% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ไม้อัด ข้าวโพดหวาน มันสำปะหลังแช่แข็ง และมันสำปะหลังอัดเม็ด


กำลังโหลดความคิดเห็น