xs
xsm
sm
md
lg

ดร.สุวิทย์เยี่ยมการใช้วิทย์พัฒนากลุ่มเกษตรกรบุรีรัมย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์" รวท. ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ วว. ในการนำ วทน.พัฒนากลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลสำเร็จการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ภายใต้การดำเนินงานของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่เข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรบ้านหนองบอน ตำบลท่าโพธิ์ชัย อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นแบบการผลิตปัจจัยการผลิตด้วยตนเอง ที่สามารถลดต้นทุนการเพาะปลูก สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยผลการดำเนินงานของ วว. ในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ การแปรรูปกล้วย การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และการทำไร่นาสวนผสมของกลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์บ้านหนองบอน ในโอกาสนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้เป็นประธานมอบเตาชีวมวลเพื่อชุมชมลดการใช้เชื้อเพลิง ผลงานวิจัยของ วว. ให้แก่กลุ่มเกษตรกรด้วย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร ในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สร้างความยั่งยืนในการดำรงชีพ ในการนี้ ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. พร้อมด้วยผู้บริหาร นักวิจัย วว. ร่วมบรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินงานและร่วมให้การต้อนรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และคณะ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ณ จังหวัดบุรีรัมย์

ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง วว. วิจัยและพัฒนาภายใต้แนวคิดการเพิ่มมูลค่าวัสดุในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยผลิตจากมูลสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น มาทำการบดให้ละเอียด แล้วนำมาผสมกับปุ๋ยยูเรีย ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปัจจุบัน วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงแก่เกษตรกรทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับและมีความพึงพอใจในคุณสมบัติของปุ๋ยดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นปุ๋ยที่บำรุงทั้งต้นไม้และบำรุงดิน ทำให้ต้นข้าว ไม้ผล เช่น ทุเรียน ขนุน ลองกอง ลำไย ส้มโอ เจริญงอกงามดี ให้ผลผลิตสูง เป็นที่ต้องการของตลาด ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน อันจะส่งผลถึงการเกษตรที่ยั่งยืนในอนาคต

เตาชีวมวล วว. วิจัยและพัฒนาภายใต้แนวคิดลดการใช้พลังงาน เพิ่มรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ เป็นอุปกรณ์ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงแก๊สหุงต้ม ลดการสูญเสียความร้อนโดยการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลทดแทนเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อน โดย วว. ได้นำเตาชีวมวลไปใช้งานภาคสนาม ณ วิสาหกิจชุมชนอาชีพบ้านโนนใน จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมีปริมาณการผลิตสินค้ากล้วยทอด 100 กิโลกรัมต่อวัน โดยใช้แก๊สหุงต้ม (lPG) เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนแก่หม้อกวนและหม้อทอดกล้วย พบว่า มีปริมาณการใช้แก๊ส lPG 64 กิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นเงิน 1,600 บาทต่อวัน ดังนั้นผู้ประกอบการจึงมองหาเชื้อเพลิงชนิดใหม่ที่สามารถลดหรือทดแทนการใช้แก๊สหุงต้มได้ เพื่อลดต้นทุนจากเชื้อเพลิง แต่ต้องสามารถใช้งานได้สะดวกและง่ายต่อการควบคุมดูแล

จากการใช้งานเตาชีวมวล วว. ในการผลิตสินค้ากล้วยทอดพบว่า 1.มีประสิทธิภาพผลิตความร้อนด้วยเชื้อเพลิงถ่านที่มีราคาต่ำกว่าเชื้อเพลิงแก๊สหุงต้ม 2.ลดต้นทุนเชื้อเพลิงลงถึง 3 บาทต่อกิโลกรัมกล้วย 3.ลดเวลาในการผลิต (*จากเดิมการกวนกล้วย 30 กิโลกรัม จะใช้เวลา 3 ชั่วโมง 30 นาที แต่เมื่อใช้เตาชีวมวลที่พัฒนาโดย วว. จะใช้เวลา 2 ชั่วโมงเท่านั้น*) 4.มูลค่าการประหยัดค่าพลังงานในการผลิตกล้วยทอดเท่ากับ 88.33 บาท ต่อการผลิตกล้วยทอด 1 กิโลกรัม และ 5.มูลค่าการประหยัดเวลาในการผลิตกล้วยทอดเท่ากับ 1.875 บาท ต่อการผลิตกล้วยทอด 1 กิโลกรัม

“เตาชีวมวล” นับเป็นอีกหนึ่งผลงานความสำเร็จของ วว. ในการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น