รฟม.อ่วม ต้องขยับจุดตั้งสถานีราษฎร์พัฒนา (ซอยมิสทีน) สายสีส้มออกไปอีก 200 เมตร ทั้งที่เวนคืน จ่ายชดเชยไปแล้ว เหตุ กทม.ไม่ให้ใช้พื้นที่ตามตำแหน่งเดิม อ้างมีแผนก่อสร้างสะพานข้ามทางแยก เซ็งย้ายสถานีห่างชุมชน ประชาชนอาจไม่สะดวกในการใช้รถไฟฟ้า
รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.57 กม. วงเงิน 79,221,243,222 บาท ซึ่งล่าสุด รฟม.ต้องปรับแบบก่อสร้างช่วงสถานีราษฎร์พัฒนา (ซอยมิสทีน) บนถนนรามคำแหง เนื่องจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว โดย กทม.ระบุว่ามีแผนที่จะก่อสร้างสะพานข้ามสามแยกดังกล่าวเพื่อเลี้ยวขวาเข้าถนนราษฎร์พัฒนา และก่อสร้างสะพานจากถนนราษฎร์พัฒนาเลี้ยวขวาออกถนนรามคำแหง โดยให้ รฟม.ขยับตัวสถานีราษฎร์พัฒนาจากตำแหน่งเดิม 200 เมตรไปทางแยกลำสาลี ซึ่งจะห่างจากสถานีน้อมเกล้าไม่มากนัก นอกจากนี้ กทม.ยังให้ รฟม.ออกค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงฐานรากสำหรับสะพานข้ามแยกให้ กทม.ก่อนอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ได้ข้อสรุปร่วมกับ กทม.แล้ว และ รฟม.ได้ออกแบบก่อสร้าง รวมถึงทำการเวนคืนและได้มีการจ่ายค่าชดเชยเวนคืนให้ประชาชนไปเกือบหมดแล้ว การที่ กทม.แจ้งไม่ให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบต่อ รฟม.อย่างมาก นอกจากนี้ การขยับจุดตั้งสถานีไปอีก 200 เมตร นอกจากจะต้องเวนคืนใหม่แล้ว จุดดังกล่าวยังไม่เป็นชุมชน ซึ่งไม่เหมาะกับการตั้งสถานี ซึ่งแนวดังกล่าวมีพื้นที่ฟุตปาธแคบ การก่อสร้างมีปัญหามากอยู่แล้ว
“สายสีส้ม จะอยู่บนแนวถนนรามคำแหง ซึ่งก่อนหน้านี้ กทม.มีแผนจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับตลอดแนวรามคำแหงไปจนถึงแยกพระราม 9 แต่ถูกต่อต้านเพราะจะกลายเป็นการขนรถไปแออัดที่ทางลงพระราม 9 และไม่ใช่การแก้ปัญหาจราจรที่ถูกต้อง ต่อมา กทม.ปรับเป็นการทำสะพานลอยข้ามแต่ละทางแยกแทน”
อย่างไรก็ตาม กรณีให้ รฟม.ออกค่าฐานรากเผื่อทางยกระดับของ กทม.ไปก่อนยังมีประเด็นที่ไม่ชัดเจน เพราะโครงการสะพานข้ามทางแยกของ กทม.ยังไม่ผ่านสภา กทม. และ EIA สุดท้ายจะกลายเป็นปัญหาหนี้สินระหว่างกันในอนาคตได้ ขณะนี้การก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนใหญ่ของ รฟม.ต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างตามแนวถนน ซึ่ง รฟม.ได้ประสานกับ กทม. แต่ยังมีอีกหลายจุดที่ กทม.ยังไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ ซึ่ง รฟม.เกรงว่าหากไม่ยินยอมตาม กทม.อาจจะกระทบไปถึงการเข้าพื้นที่ก่อสร้างสายสีชมพู และสีเหลืองได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ รฟม.เคยมีปัญหาเรื่องพื้นที่ก่อสร้างสายสีน้ำเงินช่วงต่อขยาย ช่วงอุโมงค์ ไฟฉายและบางพลัด จนทำให้โครงการล่าช้าอย่างมากมาแล้ว
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างสายสีส้ม ด้านตะวันออก ถึงเดือน เม.ย. 2561 มีประมาณ 8.62% เร็วกว่าแผน 0.96% โดยสัญญาที่ 1 กิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-รามคำแหง 12 ระยะทาง 6.29 กม. วงเงิน 20,633 ล้านบาท คืบหน้า 9.05% เร็วกว่าแผน 4.92%
สัญญาที่ 2 กิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE เป็นผู้รับจ้างช่วงรามคำแหง 12- หัวหมาก ระยะทาง 3.44 กม. วงเงิน 21,507 ล้านบาท คืบหน้า 7.28% เร็วกว่าแผน 0.82% สัญญาที่ 3 บริษัท อิตาเลียนไทย เป็นผู้รับจ้าง ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า ระยะทาง 4.04 กม. วงเงิน 18,570 ล้านบาท คืบหน้า 11% ช้ากว่าแผน 3.14% สัญญาที่ 4 บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างช่วงคลองบ้านม้า-สุวินทวงศ์ ระยะยทาง 8.80 กม. วงเงินค่าจ้าง 9,990 ล้านบาท คืบหน้า 4.97% ช้ากว่าแผน 1.68%
สัญญาที่ 5 กลุ่ม CKST JOINT VENTURE เป็นผู้รับจ้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจรบริเวณสถานีบ้านม้า วงเงิน 4,831.24 ล้านบาท คืบหน้า 9.58% เร็วกว่าแผน 4.24% สัญญาที่ 6 บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างระบบราง ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-สุวินทวงศ์ วงเงิน 3,690 ล้านบาท คืบหน้า 11.23% เร็วกว่าแผน 3.19%