อัยการ ดำเนินการทางกฎหมาย ฟ้องขสมก.เคลื่อนย้ายรถเมล์ NGV 84 คันออกจากศูนย์ซ่อมฯพระราม9 เพื่อเร่งส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาสายสีส้ม หลังคดีนำเข้ารถเมล์ NGV บานปลาย “ขสมก.-เบสท์รินฯ”พิพาทยาว
นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการ (บริหาร) รักษาการแทนผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากที่รฟม.ได้แจ้งให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เคลื่อนย้ายรถโดยสาร NGV จำนวน 84 คัน ออกจากพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล พระราม 9 แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ดังนั้นขั้นตอนจากนี้ รฟม.จะเป็นการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายรถ NGV ออกจากพื้นที่
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รฟม.ได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอให้ดำเนินการและใช้อำนาจศาล สั่งให้ขสมก.และ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เคลื่อนย้ายรถโดยสาร NGV ทั้ง 84 คัน ออกจากพื้นที่ก่อสร้างศูนย์ซ่อมฯที่พระราม 9 โดยเร็วที่สุด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว รฟม.จะต้องส่งมอบให้ ผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างเดปโป้ ของรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ตะวันออก) ช่วง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งที่ผ่านมา รฟม.ได้ประสานกับผู้รับเหมาสายสีส้ม โดยปรับแผนการก่อสร้างเดปโป้ ในพื้นที่อื่นไปก่อน ซึ่งหากยังเคลียร์พื้นที่จุดที่มีการนำรถ NGV มาจอดไม่ได้อาจจะกระทบต่อการก่อสร้าง และผู้รับเหมาจะใช้เป็นเหตุเรียกค่าชดเชยจากรฟม.ได้
“ตอนที่ ขสมก.ขอใช้พื้นที่จอดรถ NGV รฟม.ได้ให้ความร่วมมืออนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ แต่เมื่อ ขสมก.กับ เบสท์รินฯ มีการฟ้องร้องกัน ขสมก.ยังไม่รับรถ ส่วนเบสท์รินฯ บอกว่ารถเป็นของ ขสมก.แล้ว ทำให้การเคลื่อนย้ายรถอาจส่งผลต่อคดีได้ กลายเป็นปัญหากระทบต่อโครงการของรฟม.”นายฤทธิกากล่าว
สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออก ช่วง ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.57 กม.วงเงิน 79,221,243,222 บาท ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 กิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน 3 สถานี ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-รามคำแหง 12 ระยะทาง 6.29 กม. วงเงินค่าจ้าง 20,633 ล้านบาท
สัญญาที่ 2 กิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE เป็นผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน 4 สถานี ช่วงรามคำแหง 12-หัวหมาก ระยะทาง 3.44 กม. วงเงิน 21,507 ล้านบาท สัญญาที่ 3 บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน 3 สถานี ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า ระยะทาง 4.04 กม. วงเงิน 18,570 ล้านบาท
สัญญาที่ 4 บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ จำนวน 7 สถานี ช่วงคลองบ้านม้า-สุวินทวงศ์ ระยะทาง 8.80 กม. ความสูงจากระดับดินประมาณ 17 เมตร วงเงินค่าจ้าง 9,990 ล้านบาท สัญญาที่ 5 กลุ่ม CKST JOINT VENTURE เป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจรบริเวณสถานีบ้านม้า จอดรถได้ประมาณ 1,200 คัน วงเงิน 4,831.24 ล้านบาท สัญญาที่ 6 บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างออกแบบก่อสร้างระบบราง ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-สุวินทวงศ์ วงเงิน 3,690 ล้านบาท