xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” เร่งผุดรถไฟฟ้าเชียงใหม่-ภูเก็ตปีนี้ ด้าน รฟม.เซ็นก่อสร้างสีส้มอัดฉีด 8 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมคิด” ย้ำ ครม.อนุมัติรถไฟฟ้าครบ 10 สายในปีนี้ เรียกเชื่อมั่นนักลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ รฟม.เซ็นก่อสร้าง 6 สัญญา สายสีส้ม ศูนย์วัฒน์ฯ-มีนบุรีเกือบ 8 หมื่นล้านอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจ พร้อม เร่งรถไฟฟ้าเชียงใหม่, ภูเก็ตให้เกิดในปีนี้ “อาคม” เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติอีก 5 สายในกลางปีนี้ ขณะที่ “ผู้ว่าฯ รฟม.”เตรียมเสนอผลศึกษาการเดินรถในปีนี้ หวั่นปัญหาเปิดเดินรถ าช้าซ้ำซาก

วันนี้ (9 ก.พ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วยศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.57 กม. วงเงิน 79,221,243,222 บาท กับผู้รับจ้างรวม 6 สัญญา โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานว่า รัฐบาลมีเป้าหมายในการอนุมัติโครงการรถไฟฟ้า ในแผนแม่บทให้ครบ 10 สาย ภายในปี 2560 และในวันที่ 14 ก.พ. จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติดำเนินการ 1 กม.ของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ติดตั้งระบบใน 6 เดือนสามารถเปิดเดินรถได้ ส่วนการเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และเตาปูน-บางซื่อ จะเร่งเสนอ ครม.ตามไปแน่นอน

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าได้ตามแผนทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลยังได้ให้นโยบายในการก่อสร้างรถไฟฟ้าในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่, ภูเก็ต ที่มีการจราจรหนาแน่นด้วย ซึ่งได้มอบหมายให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเหมาะสมและให้ รฟม.ดำเนินการ ตั้งเป้าในปีนี้จะต้องดำเนินการให้ได้อย่างน้อย 2 จังหวัด ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นให้พิจารณาความเหมาะสม กรณีที่จังหวัดมีกำลังดำเนินการเองได้ให้เปิดร่วมทุนกับเอกชน (PPP) แต่หากไม่มีกำลังรัฐบาลจะเข้าไปทำ รวมถึงการเร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ด้วย ซึ่งในวันที่ 1 มี.ค.นี้จะเคาะราคา 5 เส้นทาง และลงนามกับผู้รับเหมาในเดือน มี.ค. 2560

“อย่ามองการลงทุนรถไฟฟ้าแค่ที่ค่าโดยสารแล้วคุ้มทุนมีกำไร เพราะไม่มีประเทศไหนได้ แต่ต้องมองสิ่งที่ได้ประโยชน์ด้วย เช่น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความเจริญพื้นที่แนวเส้นทาง และที่มีข่าวว่ารัฐบาลไม่มีเงินนั้นเป็นมุกเก่าเลิกเล่นได้แล้ว เพราะฐานการเงินเรามั่นคง ประเทศกำลังก้าวไปด้วยดี ต่างประเทศมั่นใจ รมว.คลังพูดยืนยันแล้ว ไม่ใช่ไม่มีข้อมูลแล้วพูดกัน และผู้รับเหมาไทยจะไม่ได้มีแค่งานในประเทศ ต่อไปจะพาออกไปรับงานประเทศเพื่อนบ้านใน CIMV ด้วย”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามแผน รถไฟฟ้าอีก 5 สายที่เหลือจะเสนอ ครม.ได้ภายในครึ่งปีแรกนี้ โดยในช่วง มี.ค.-เม.ย.จะเสนอสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 131,004.30 ล้านบาท สายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ วงเงิน 111,186 ล้านบาท ส่วนสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 21,197 ล้านบาท, สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 12,146 ล้านบาท, สายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 9,803 ล้านบาทจะทยอยตามไป โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 5-6 ปีรถไฟฟ้าทั้งหมดจะเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายสมบูรณ์

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า แผนงานสายสีส้มหลังจากนี้จะเป็นการทำแผนย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และประสานการจัดการบริหารจราจรกับ บริษัทที่ปรึกษา ตำรวจจราจร และผู้รับเหมา ก่อนที่จะเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างในเดือน มิ.ย. 60 แล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2566 และเปิดเดินรถได้ในปี 2566 ทั้งนี้ ที่ผ่านมายอมรับว่าการเดินรถอาจจะไม่สอดคล้องกับการก่อสร้างที่เสร็จก่อนทำให้อาจจะเกิดช่องว่าง ตามหลักหลังเริ่มการก่อสร้างงานโยธา 1 ปีเศษจะต้องเริ่มขั้นตอนการจัดหาผู้เดินรถ ซึ่งขณะนี้ รฟม.ได้ศึกษารายงานรูปแบบการเดินรถสายสีส้มและการร่วมลงทุนไว้แล้วจะเสนอ ครม.ได้ภายในปีนี้ รวมไปถึงการศึกษาการเดินรถสายสีม่วงใต้ ส่วนเดินรถสีเขียวจะต้องรอความชัดเจนการโอนให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อน ขณะที่สายสีน้ำเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 จะพิจารณาหลังจากลงนามสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

โดยรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วยศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.57 กม. ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 กิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน 3 สถานี ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-รามคำแหง 12 ระยะทาง 6.29 กม. วงเงินค่าจ้าง 20,633 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 กิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE เป็นผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน 4 สถานี ช่วงรามคำแหง 12-หัวหมาก ระยะทาง 3.44 กม. วงเงิน 21,507 ล้านบาท

สัญญาที่ 3 บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน 3 สถานี ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า ระยะทาง 4.04 กม. วงเงิน 18,570 ล้านบาท

สัญญาที่ 4 บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ จำนวน 7 สถานี ช่วงคลองบ้านม้า-สุวินทวงศ์ ระยะทาง 8.80 กม. ความสูงจากระดับดินประมาณ 17 เมตร วงเงินค่าจ้าง 9,990 ล้านบาท

สัญญาที่ 5 กลุ่ม CKST JOINT VENTURE เป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจรบริเวณสถานีบ้านม้า จอดรถได้ประมาณ 1,200 คัน วงเงิน 4,831.24 ล้านบาท

สัญญาที่ 6 บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างออกแบบก่อสร้างระบบราง ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-สุวินทวงศ์ วงเงิน 3,690 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น