xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.-เชฟรอน-มูบาดาลา ยื่นแล้ว! พร้อมชิงประมูลเอราวัณ-บงกช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอกชนประเดิม 3 ราย ได้แก่ ปตท.สผ.-เชฟรอน-มูบาดาลา เข้ายื่นแสดงความจำนงที่จะเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติ หรือ PQ เพื่อประมูลแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ-บงกช “มูบาดาลา” เปิดหน้าชนพร้อมชิงทั้ง 2 แหล่ง แต่เชฟรอนยังแทงกั๊กขอตัดสินใจอีกครั้ง กรมเชื้อเพลิงฯ คาดจะมีเม็ดเงินลงทุน 10 ปี สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท เงื่อนไขทีโออาร์ “มั่นคง-ค่าไฟฟ้าต่ำ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 พ.ค.) เป็นวันที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้เปิดให้เอกชนเข้ายื่นแบบฟอร์มแสดงความจำนงลงทะเบียนเพื่อการเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification Evaluation : PQ)ในการเข้าประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ และบงกช ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-2566 ในระบบ Production Sharing Contract (PSC) โดยในช่วงเช้าพบว่า บมจ.ปตท.สำรวจและผลิต หรือ ปตท.สผ. ถือฤกษ์เวลา 09.09 น.เป็นรายแรกยื่นแบบฟอร์ม ตามด้วยเชฟรอน ยื่น 09.29 น. และมูบาดาลา ประเทศไทย ยื่นเวลา 10.45 น. โดยทั้ง 3 รายได้ยื่นเจตจำนงเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติทั้ง 2 แหล่ง

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการ บริหารเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์การผลิตก๊าซในไทยมากว่า 30 ปี และมีเทคโนโลยีทั่วโลกและที่สำคัญยังเป็นผู้ดำเนินการหลัก (Operator) ในแหล่งเอราวัณอยู่แล้วจึงมั่นใจว่าจะชนะการประมูลแน่นอน โดยเชฟรอนมีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนในไทย แม้จะไม่ชนะประมูลก็ยังลงทุนต่อไปเนื่องจากยังมีแหล่งอื่นๆ ที่มีสัญญาผลิตต่อเนื่อง ปัจจุบันเชฟรอนมีพนักงานเป็นคนไทยถึง 90% จากพนักงานรวม 2,600 คน

“แม้ว่าเงื่อนไขจะท้าทาย แต่ก็มั่นใจในประสบการณ์ ส่วนจะยื่นประมูลทั้ง 2 แปลงหรือไม่ และจะร่วมทุนกับรายใดหรือไม่ เช่น ปตท.สผ. ยังมีเวลาตัดสินใจก่อนที่จะยื่นข้อเสนอ 25 ก.ย.นี้ สำหรับเงื่อนไขสำคัญที่ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนแหล่งเอรวัณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และบงกช 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทแม่เชฟรอน สหรัฐฯ พร้อมสนับสนุน” นายไพโรจน์กล่าว

นายราเชด อัล บลูชิ (Mr.Rashed Al Blooshi) กรรมการผู้จัดการมูบาดาลา ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทแม่ของบูบาดาลา คือ Mubadala Investment Company (MIC) เป็นบริษัทกองทุนเชิงกลยุทธ์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งมีรัฐบาลอาบูดาบีถือหุ้นทั้งหมด มีประสบการณ์ลงทุนทั่วโลก และมีความเข้มแข็งทางด้านการเงิน จึงมั่นใจว่าจะเป็นยุทธศาตร์ในการแข่งขันประมูลครั้งนี้ แต่จะยื่นประมูลร่วมกับรายอื่นหรือไม่นั้น ขอศึกษาข้อมูลทั้งหมดเสียก่อน โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังผลิตน้ำมันดิบในไทยประมาณ 3 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ใน 3 แหล่ง ประกอบด้วย แหล่งมโนราห์ แหล่งนงเยาว์ และแหล่งจัสมิน

“บริษัทฯ จะยื่นประมูลทั้งบงกช และเอราวัณ หรือจะร่วมประมูลกับใครนั้น ขอเวลาศึกษาข้อมูลทีโออาร์ และห้องข้อมูลทั้งหมดเสียก่อน โดยบริษัทซีเรียสกับการประมูลครั้งนี้” นายราเชดกล่าว

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การที่รายใหญ่ 3 ราย เข้ามายื่นเจตจำนงในเช้าวันนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ยึดติดเฉพาะแหล่งที่ตนเป็นโอเปอเรเตอร์ โดยการลงทุนทั้ง 2 แหล่งนี้ คาดว่าจะทำให้เงินลงทุนใน 10 ปี หลังจากหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 จะมีเม็ดเงินรวม 1.2 ล้านล้านบาท สร้างรายได้แก่ประเทศ 2.1 ล้านล้านบาท สร้างกำไร 9 แสนล้านบาท ในส่วนนี้คาดจะเป็นรายได้ของรัฐไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท และที่สำคัญเงื่อนไขการประมูลที่กำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ 10 ปี การให้น้ำหนัก 65% จากการพิจารณาราคาก๊าซฯ ที่ไม่สูงเกินจากราคาปัจจุบัน ยังทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานและต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ เป็นผลดีต่อประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น