xs
xsm
sm
md
lg

รัฐฝันหรู ประมูลเอราวัณ-บงกช เอกชนแข่งลดค่าก๊าซฯ ช่วยลดค่าไฟประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติหวังเปิดประมูลเอราวัณ-บงกชจะทำให้ราคาก๊าซฯ ต่ำลงเป็นผลดีลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน เหตุกำหนดเงื่อนไขให้คะแนน 65% ยึดราคาก๊าซถูก ส่วนกำไรที่จะเสนอให้รัฐให้น้ำหนักเพียง 25% เปิดดาวน์โหลดข้อมูลได้พรุ่งนี้ (25 เม.ย.) ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ 28 พ.ค. 61 ก่อนให้เสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ให้รัฐ 25 ก.ย. 61 แจง 2 แหล่งก๊าซฯ ตลอดเกือบ 30 ปีสร้างรายได้ให้ไทยแล้ว 4.2 แสนล้านบาท โชว์ประมูลระบบ PSC ครั้งแรกของโลก



วันนี้ (24 เม.ย.) ที่กระทรวงพลังงาน นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แถลงถึงการเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 หรือแหล่งเอราวัณและบงกช ว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแผนบริหารจัดการการประมูลขอสิทธิและสำรวจปิโตรเลียมแหล่งก๊าซฯ เอราวัณและบงกช ตามทีโออาร์การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ไปแล้วนั้น ได้กำหนดเกณฑ์การให้คะแนนที่เน้นน้ำหนักการเสนอราคาก๊าซธรรมชาติต่ำสุดไว้ 65% ของคะแนนทั้งหมดและการเสนอส่วนแบ่งกำไรให้รัฐ 25% ทั้งนี้ เนื่องจากราคาก๊าซฯ จะต้องนำไปผลิตไฟฟ้าหากราคาก๊าซฯ ถูกลง 1 บาทต่อล้านบีทียูจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft )ลดลง 0.5 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งผลดังกล่าวประโยชน์จะตกอยู่ที่ประชาชนมากกว่า

“เราให้น้ำหนักคะแนนสำหรับผู้ที่จะชนะการประมูลไว้ที่ราคาก๊าซฯ ต่ำกับส่วนแบ่งกำไรให้รัฐอัตรา 2.5 ต่อ 1 เพราะถ้าก๊าซฯ ถูกก็หมายถึงค่าไฟถูกลงประโยชน์นี้จะตกกับรัฐมากกว่า โดยขณะนี้บงกชเฉลี่ย 200 บาทต่อล้านบีทียู เอราวัณ 160 บาทต่อล้านบีทียู แต่ส่วนนี้เป็นสัญญาเดิมต้องปรับใหม่ ซึ่งคัดเลือกจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอซึ่งตนเป็นประธานและมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นบุคคลภายนอก 4 คน และกรรมการต่างๆ ที่มั่นใจว่าจะพิจารณาอย่างโปร่งใส” นายวีระศักดิ์กล่าว

สำหรับขั้นตอนและเวลาประมูล ได้แก่ วันที่ 25 เมษายน 2561 เป็นต้นไป กรมฯ จะเปิดให้ดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องในการประมูลผ่านทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (http://www.dmf.go.th/bidding2018) จากนั้นสามารถยื่นแบบฟอร์มแสดงความจำนงเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification Evaluation) ในวันที่ 15-16 พ.ค. และจะแจ้งผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 28 พ.ค. 61 จากนั้นหากผู้ที่ผ่านคุณสมบัติต้องการเข้าถึงและศึกษาข้อมูล (DATA ROOM) สามารถยื่นเอกสารระหว่าง 30 พ.ค.-1 มิ.ย. 61 ซึ่งต้องจ่ายเงิน 7 ล้านบาท และเข้าดูข้อมูลได้ 7 มิ.ย.-21ก.ย. 61

จากนั้นจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐภายใต้ระบบ PSC ในวันที่ 25 ก.ย. 61 ซึ่งผู้ที่เข้ามาจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 5 หมื่นบาทและหลักประกันคำขอ 3 ล้านบาท จากนั้นจะมีการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูล โดยจะประกาศผลทางเว็บไซต์กรมฯ ธ.ค. 61 และจะมีการลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลได้ ก.พ. 62 ซึ่งในวันลงนามจะต้องมีแบงก์การันตี

นายวีระศักดิ์กล่าวว่า สำหรับอายุสัญญาผลิตของทั้ง 2 แหล่งจะมีอายุ 20 ปี และต่ออายุให้อีก 10 ปี ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ที่กำหนดไว้ โดยการประมูลครั้งนี้คาดหวังว่าจะมีผู้มายื่นประมูลเกิน 2 รายต่อแปลงทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ และการที่ให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกคุณสมบัติอย่างเข้มข้น เช่น ผู้ยื่นต้องเคยผลิตก๊าซในทะเลไม่ต่ำกว่า 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผู้เข้าประมูลแหล่งเอราวัณต้องมีทุนหมุนเวียน 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และบงกช 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯลฯ ก็เพื่อให้มั่นใจว่าจะเข้ามาผลิตก๊าซฯ ได้ต่อเนื่องทันทีจึงมั่นใจว่าจะไม่ซ้ำรอยกรณีประมูลระบบ 4 จีแต่อย่างใด

ปัจจุบันการผลิตก๊าซฯ จากทั้ง 2 แหล่งมาตลอดกว่า 30 ปีได้สร้างรายได้ให้ประเทศรวมแล้ว 4.2 แสนล้านบาท โดยในปี 2560 สร้างรายได้ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทั้ง 2 แหล่งใช้รูปแบบสัมปทานและการปรับมาเป็นรูปแบบ PSC ถือเป็นประเทศแรกของโลกเนื่องจากประเทศอื่นๆ เมื่อหมดอายุสัมปทานจะใช้วิธีต่ออายุแทน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ย้ำเมื่อครั้งที่ประชุม กพช.ว่า ที่ผ่านมาทั้ง 2 แหล่งได้สร้างงานให้แก่คนไทย ดังนั้นการประมูลครั้งนี้จะกำหนดให้ต้องมีพนักงานคนไทยไม่น้อย 80% ของพนักงานทั้งหมดในปีแรก และภายใน 5 ปีจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในทุกระดับ


กำลังโหลดความคิดเห็น