เลขาธิการ กสทช. ลำดับเหตุการณ์ช่วยเหลือค่ายมือถือ กับทีวีดิจิทัล ยันไม่ใช่ กสทช. ชงเรื่องให้ใช้ ม. 44 เพื่ออุ้มใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นเอกชนยื่นเรื่องถึง คสช. และรัฐบาล มาขอความเห็นกับ กสทช. เอง หากตรรกะของ กสทช. เลอะเลือน ก็ขอให้เชื่อนักวิชาการ ตนเองไม่ได้ขัดข้องใด ๆ ยังไงก็มีแบงก์การันตี ส่วนเรื่องทีวีดิจิทัล หากไม่มีข้อติดใจใด ๆ แล้ว ขอให้รัฐบาลออก ม. 44 ช่วยไปก่อน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล ไม่ใช่สิ่งที่ กสทช. เป็นคนชงเรื่องให้รัฐบาลออก ม. 44 อย่างที่หลายฝ่ายคิด เพราะเรื่องนี้รัฐบาลเป็นผู้มาขอความเห็นจาก กสทช. เองว่ามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคม 2 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทลูกของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) บริษัทในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ไปยื่นเรื่องกับรัฐบาลเองลงวันที่ 27 ก.ย. 2560 ว่าขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz งวดที่สี่ออกไปเป็น 7 งวด และขอไม่ชำระอัตราดอกเบี้ย โดยอ้างว่าราคาประมูลสูงเกินจริง เพราะบริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ไม่ชำระค่าประมูล และจะมีปัญหาในการขยายโครงข่ายด้านโทรคมนาคมในอนาคต
ทั้งนี้ กสทช. ก็มีความเห็นตอบกลับไปยังรัฐบาลว่า ผู้ประมูลสามารถมีทางเลือกว่าจะชำระตามเดิม หรือชำระตามที่ขอก็ได้ แต่ควรขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลเป็น 3-5 งวด ไม่ใช่ 7 งวด และควรชำระอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลขอความเห็นนั้นไม่ได้ขอแค่ กสทช. ฝ่ายเดียว รัฐบาลยังขอความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น
“การช่วยเหลือเรื่องโทรคมนาคม ล่าสุด ก็ได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 3 เม.ย. อีกครั้งแล้วว่า แนวทางช่วยและไม่ช่วยจะเกิดอะไรขึ้น ขออย่ามาโฟกัสที่คำพูดของเรา ถ้าตรรกะนี้ใช้ไม่ได้ เลอะเลือนไป ก็ทำตามตรรกะของนักวิชาการไป ส่วนเรื่องโทรคมนาคมจะไม่ช่วยก็ไม่ขัดใจ ถึงปี 2563 ก็นำแบงก์การันตีไปขึ้นเงินเท่านั้นเอง ขอให้ทุกคนที่มีเหตุผลดี ๆ ส่งไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเอง ไม่ต้องส่งมาที่ผม ผมไม่ได้เป็นคนชง ไม่ได้อุ้มโทรคมนาคม ที่บอกว่าโทรคมนาคมยังมีกำไรอยู่นั้น เราไม่ได้ติดใจเรื่องนี้ หลักการในการตอบ เราตอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน หากหลายคนบอกว่าไม่ต้องการช่วยเหลือ กสทช. ก็ไม่ขัดข้อง เพราะ กสทช. มีแบงก์การันตีอยู่แล้ว ถึงเวลาก็เอาไปขึ้นเงิน ที่ผ่านมา เราทำดีที่สุดแล้ว ตอนนี้รัฐบาลจะช่วยทีวีดิจิทัลก็ช่วยไป”
นายฐากร กล่าวว่า ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้น สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ขอไม่ชำระค่าประมูลงวดที่เหลือ และออกค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดินทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลก็ทำเรื่องขอความเห็นมาทาง กสทช. ด้วย ลงวันที่ 23 พ.ย. 2560 กสทช. ก็ตอบไปเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2560 ว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการดำเนินการ หากรัฐบาลจะช่วย ก็ต้องออก ม. 44 ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันในมาตรการให้พักชำระหนี้ทีวีดิจิทัล ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยผู้ที่จะยื่นเรื่องในการพักชำระหนี้ จะต้องยื่นกับคณะกรรมการ กสทช. ภายใน 30 วัน โดยต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายของ ธปท.
ขณะที่ กสทช. จะสนับสนุนเรื่องโครงข่ายภาคพื้นดินไม่เกิน 50% ภายในระยะเวลา 24 เดือน ดังนั้น ขอให้รัฐบาลดำเนินการช่วยทีวีดิจิทัลไปก่อน เพราะไม่มีข้อติดใจใด ๆ แล้ว