xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.เปิด 9 ประเด็นหนุน คสช.ช่วยค่ายมือถือ ชี้รัฐได้ “ดอกเบี้ย-เงินประมูล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หาก คสช. มีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินออกไปอีก 5 งวดจนถึงปี 2567 พบว่า รัฐจะไม่เสียหายเนื่องจาก กสทช. กำหนดเงื่อนไขให้จ่ายดอกเบี้ยให้กับรัฐตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย 1.5% จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มอีก 3,593.76 ล้านบาท

ผลจากการขยายระยะเวลาออกไปนั้น จะทำให้วงเงินกู้ของบริษัททรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC (Truemove H Universal Communication) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เวส เนทเวิร์ต หรือ AWN (Advance Wireless Network) ได้รับการขยายออกไปด้วย เปิดโอกาสให้บริษัทฯเข้าร่วมประมูลกับ กสทช.ได้อีก แต่ถ้าไม่มีการขยายระยะเวลาการชำระเงิน บริษัทฯ มีวงเงินกู้เต็มเพดาน

กสทช. เปิดประมูลคลื่น มี 3 บริษัทเข้าร่วม ราคาประมูลย่อมเพิ่มขึ้นเนื่องจากเกิดการแข่งขันกัน รัฐจะมีรายได้จากค่าประมูลเพิ่มขึ้น จำนวนคลื่นมีมากขึ้น รองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่นที่จะนำมาให้บริการ 5G และ Internet of Things ผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้ย่อมมีสูงกว่าการไม่ขยายระยะเวลาการชำระค่างวด

สืบเนื่องจากผู้บริหาร TUC และยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอผ่อนผันการชำระค่างวดเงินประมูลคลื่นความถี่จากเดิมต้องจ่ายงวดที่ 4 เป็นงวดสุดท้ายในปี 2563 เป็นทยอยจ่ายออกไปอีก 5 งวดจนถึงปี 2567 ในที่ประชุม คสช. และคณะรัฐมนตรี ยังไม่ได้ข้อสรุป และให้สำนักงาน กสทช. นำข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งก่อนจะพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ คณะทำงานของสำนักงาน กสทช. พิจารณาว่า หาก คสช. จะมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลออกไป หรือ คสช. ไม่ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่างวดจะเกิดผลใน 9 ข้อประเด็นดังนี้

1. ทางทรูมูฟ และเอไอเอส ได้วางเงินประกันให้กับสำนักงาน กสทช. ครบถ้วนราว 130,000 ล้านบาท อยู่แล้ว ทั้งบริษัท TUC และ AWN รับภาระหนี้จากการกู้เงินธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 3% (ดูในตารางที่ 1)

2. หาก คสช. มีคำสั่งให้สำนักงาน กสทช. ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลของทั้งสองบริษัทออกไปจากปี 2563 เป็นปี 2567 โดยคิดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย 1.5% รัฐจะรายได้เพิ่มจากการเก็บอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้น 3,593.76 ล้านบาท (ตารางที่2)

3. เมื่อทั้งสองบริษัทได้รับสิทธิในการขยายระยะเวลาชำระค่างวดออกไป มีความเป็นไปได้สูงว่า บริษัทจะกลับมาเข้าร่วมแข่งขันประมูล เนื่องจากวงเงินกู้จากสถาบันการเงินได้รับการขยายออกไปด้วยเช่นกัน และบริษัทยังมีโอกาสเฉลี่ยต้นทุน

4. คณะทำงานเชื่อว่า หาก กสทช. เปิดประมูลคลื่นบริษัท TUC, AWN และบริษัทดีแทค ไตรเนต เน็ตเวิร์ก จำกัด หรือ DTN (DTAC Trinet Network) เข้าร่วมประมูลด้วย จะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

- ถ้าประมูลได้ทั้ง 3 ใบอนุญาต รัฐจะได้เงิน 120,477.72 ล้านบาท
- ประมูล 2 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 80,318.48 ล้านบาท
- ประมูล 1 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 40,159.24 ล้านบาท (ตารางที่ 3)

5. กรณีไม่มีการประมูล และ คสช. ไม่ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ สำนักงาน
กสทช. จะมีรายได้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน รวมถึงปี 2567 เป็นยอดเงิน 166,991.16 ล้านบาท (ตาราง 4)

6. หากจัดประมูลคลื่น 1800 MHz โดย คสช. มีคำสั่งขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอีก รัฐจะมีรายได้รวมถึงปี 2567 ในกรณีใบอนุญาต 3 ใบ รัฐจะมีรายได้ 291,314.20 ล้านบาท (ตารางที่ 5)

7. หากจัดประมูลคลื่น 1800 MHz และขยายเวลาชำระหนี้ออกไป รัฐจะมีรายได้ รวมถึงปี 2567 กรณีใบอนุญาต 2 ใบ รัฐจะมีรายได้ 251,154.96 ล้านบาท (ตารางที่ 6)
8. ส่วนในกรณีจะเกิดการฟ้องร้องในภายหลังหรือไม่ หาก คสช. เห็นชอบให้ขยายเวลาชำระค่างวดออกไป การฟ้องร้องไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากบริษัทที่เคยชนะประมูล แต่ทิ้งใบอนุญาต คือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ขาดสิทธิในการฟ้องร้อง ส่วนบริษัท DTN จะได้รับสิทธิในเงื่อนไขการชำระค่าประมูล ที่ กสทช. กำหนดไว้ในการประมูลครั้งต่อไป ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเท่าเทียม

อีกทั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัท DTN ยืนยันผ่านสื่อว่า การประมูลครั้งที่ผ่านมา สูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6 เท่าตัว ดังนั้น การขยายระยะเวลาการชำระเงินให้กับผู้ชนะประมูลทาง DTN ไม่ขัดข้อง แต่ให้นำเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไปใส่ในการประมูลคลื่น 1800 MHz หรือ 900 MHz ในครั้งต่อไป

9. หากนำคลื่น 1800 MHz มาเปิดประมูล จะทำให้ประเทศไทย สามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอีก 90 MHz เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G, Internet of Things จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวดเร็วยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น