xs
xsm
sm
md
lg

IoT ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป “True IoT” ประกาศความพร้อมให้บริการทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนจากการลงทุน IoT หรือ Internet of Things ในประเทศไทยถึง 3 หมื่นล้านบาท และภายใน 7 ปีข้างหน้า จะเพิ่มไปอยู่ในระดับ 5 แสนล้านบาท และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสของผู้ให้บริการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่จะนำบริการ และแพลตฟอร์ม IoT เข้ามาให้บริการในประเทศไทย เพียงแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่จะทำให้ IoT ได้รับความนิยม และเติบโตแบบก้าวกระโดดคือเรื่องของเครือข่าย หรือเน็ตเวิร์ก ที่ต้องพร้อมให้บริการ

เมื่อมองถึงในประเทศไทยจะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ทั้ง 2 รายต่างเริ่มขยับขยายในส่วนของ IoT มากขึ้นกลุ่มทรูเคยออกมาพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อ3 ปีที่แล้ว ภายใต้แนวความคิด True Smart Life Smart City ที่ต้องการเป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสมาร์ท มาวันนี้กลุ่มทรูสานต่อและเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีไอโอทีอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้แนวความคิดTrue IoT - The Future isNow.
นายทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์ ผู้อำนวยการบริหารกลุ่มธุรกิจไอโอที บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า สภาพการแข่งขันในตลาด IoT ตอนนี้ อยู่ในช่วงที่ผู้ประกอบการทุกราย เข้ามาช่วยเหลือกันในแง่ของการให้ข้อมูลแก่ลูกค้า และผู้บริโภคที่สนใจ มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

“ตลาด IoT ในปัจจุบันถือเป็นตลาดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น การประกาศให้บริการ True IoT ในครั้งนี้ จึงเหมือนเป็นการจุดประกายให้ทุกคนเข้ามาช่วยกันพัฒนา สุดท้ายผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือสังคม และประเทศชาติ ตามไปกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0”

ขณะเดียวกัน ข้อมูลการเติบโตของตลาด IoT ในช่วงปีทีผ่านมา ทั่วโลกมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต 8.4 พันล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าจะอยู่ที่ 6.4 พันล้านชิ้น หรือเติบโตมากกว่า 31% และปัจจุบันเริ่มมีองค์กรธุรกิจกว่า 30%. เริ่มนำ IoT มาใช้งาน และภายในปี 2563 จะมีองค์กรธุรกิจกว่า 65% ที่นำผลิตภัณฑ์ และโซลูชัน IoT ไปใช้

“ตอนนี้ IoT สิ่งที่จะดูเหมือนไกลตัว มันไม่ไกลแล้ว และเราก็พร้อมให้บริการ และต่อไป IoT จะอยู่ในชีวิตของเรา ในทุกย่างก้าวที่เราไป”

***ให้บริการ IoT อีโคซิสเตมส์ต้องพร้อม


ในเมื่ออุปกรณ์ IoT ไม่ได้มีแต่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียวแต่จะต้องมีระบบนิเวศน์ซึ่ง True IoT Ecosystem จะประกอบด้วย 5 สิ่งใหญ่ๆคือ 1. เน็ตเวิร์กที่ครอบคลุมทั่วประเทศ 2. รองรับแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมมากที่สุดในโลก 3. มีเครือข่ายพันธมิตรที่ให้บริการด้านโซลูชัน 4. มีการสร้างคอมมูนิตีสำหรับนักพัฒนาและ 5. การมีดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด

เบื้องต้นกลุ่มทรูจะให้บริการ IoT ผ่านโครงข่าย NB-IoT ที่ปัจจุบันครอบคลุมมากที่สุดในประเทศถึง 928 อำเภอแล้วจากกว่า 4,500 สถานีฐานและภายในไตรมาส 3 จะเพิ่มโครงข่าย LTE-M (Cat-M1) ที่จะมาช่วยเสริมบริการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ความต่างระหว่าง NB-IoT และ LTE-M จะขึ้นอยู่กับความเร็วในการเชื่อมต่อและพลังงานที่ใช้ซึ่ง NB-IoT จะใช้พลังงานน้อยกว่าและความเร็วในการเชื่อมต่อก็จะตำ่กว่าส่วน LTE-M จะได้ความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นและกับการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นด้วย


ขณะเดียวกันถ้ามองถึงแพลตฟอร์มที่จะมาให้บริการ IoT ในแพลตฟอร์มคู่ค้าของกลุ่มทรูที่ประกอบด้วยไชน่าโมบายอีริคสันและหัวเว่ยปัจจุบันมีการใช้งาน IoT มากกว่า 200 ล้านอุปกรณ์เข้าถึงลูกค้าในองค์กรธุรกิจกว่า 2,000 รายบนโซลูชันกว่า 7 หมื่นแพลตฟอร์มและมีนักพัฒนาที่เข้าร่วมกว่า 5 หมื่นราย

ถ้าคนไทยอยากนำโซลูชัน IoT มาจำหน่ายในประเทศไทย True IoT ก็จะมีแพลตฟอร์มที่รองรับรวมถึงถ้านักพัฒนาไทยต้องการพัฒนา IoT บนแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็เปิดโอกาสให้นำไปทำตลาดในต่างประเทศบนแพลตฟอร์มที่เป็นมาตรฐานได้ทันที


ถัดมาในส่วนของกลุ่มพันธมิตรด้วยความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างกลุ่มทรูและไชน่าโมบายส่งผลให้ปัจจุบันกลุ่มทรูเข้าไปเป็นหนึ่งใน China Mobile IoT Alliance ที่มีพันธมิตรระดับโลกในกลุ่มกว่า 200 รายที่จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลนำประสบการณ์ใช้งานต่างๆจากระดับโลกมาให้บริการในไทย

อีกภาคส่วนที่สำคัญคือการสร้างคอมมูนิตี้สำหรับนักพัฒนา IoT ที่มีถึง 17 แห่งปัจจุบันทรูเข้าไปร่วมกับทางหัวเว่ยในการพัฒนา True-Huawei Open Lab เปิดพื้นที่ True Incube สยามสแควร์ซอย 4 True Lab ใน 8 มหาวิทยาลัยประกอบด้วยมหิดล, เขียงใหม่, เกษตรศาสตร์, เทคโนโลยีมหานคร, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ, ลาดกระบัง, มศว, ธรรมศาสตร์และจุฬาฯที่เปิดให้บริการแล้ว

ขณะที่ภายในเดือนมิถุนายนปีนี้ก็จะมีการเปิด True Innovation Center เพิ่มที่สยามสแควร์ซอย 3 และ TrueKnowledge Center ที่สยามสแควร์ซอย 2 ก่อนที่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะเปิด True Digital Park ต่อเนื่องไปถึงปี 2562 ที่จะเปิด True Lab ในอีก 4 สถาบันได้แก่ม.กรุงเทพ, .รังสิต, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ, ธนบุรีและสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์


สุดท้ายคือดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมมากที่สุดเพราะปัจจุบันในกลุ่มทรูมีให้บริการทั้ง True IDC ในการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ True Wallet ที่เป็นกระเป๋าเงินออนไลน์ True You ที่เป็นโปรแกรมสิทธิพิเศษให้แก่ลูกค้ารวมถึง AI อย่างมะลิ (Mari) การให้บริการ eSIM และระบบบริหารจัดการ Cisco Jasper

***ระบบนิเวศน์ตอบโจทย์นักพัฒนาคู่ค้าและผู้ใช้


เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของ True IoT ให้แข็งแรงแนวคิดหลักในการให้บริการของกลุ่มทรูจึงขึ้นอยู่กับ 3 กลุ่มหลักๆประกอบไปด้วย 1. กลุ่มนักพัฒนาที่ทางกลุ่มทรูจะมีการนำชิปเซ็ตหรือบอร์ด NB-IoT มาจำหน่ายในราคาที่เข้าถึงได้ (1,150 บาท) รวมถึงมีแพกเกจพิเศษสำหรับ NB-IoT SIM รายปีที่ 330 บาทและราย 3 ปีที่ 800 บาทมาให้เลือกใช้

2. ในกลุ่มของคู่ค้าเมื่อ True IoT เปิดให้บริการ True Knowledge Center จะมีจัดอบรบ ‘True IoT Certified Partner Program’ เพื่ออบรมความรู้เกี่ยวกับ IoT 12 ครั้งภายในระยะเวลา 6 เดือน

สุดท้าย 3. กลุ่มผู้ใช้ที่ลงทะเบียนให้ความสนใจจะได้รับสิทธิในการลองใช้ผลิตภัณฑ์ IoT พร้อมผู้เชียวชาญคอยให้คำปรึกษาและสั่งจองผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นกลุ่มแรก


ตอนนี้ทิศทางที่เกิดขึ้นคือทรูและประเทศไทยกำลังจะมีอุปกรณ์ IoT เข้ามาให้บริการอีกจำนวนมากทั้งในกลุ่มของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งเครื่องซักผ้า, ทีวี, ตู้เย็น, กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ทำให้เห็นว่าภายในไม่ช้านี้จะมีการนำ IoT มาใช้กับทุกอุปกรณ์ที่เขาผลิต

***สัมผัสได้จริงแล้วในประเทศไทย


นายทรงธรรมให้ข้อมูลถึงการนำระบบ True IoT ไปใช้งานที่เกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศไทยทั้งสนามลู่ปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิต’ (Happy and Healthy Bike Lane) ที่นำ IoT เข้าไปใช้ทั้งในแง่ของการลงทะเบียนผ่านเข้าสนามด้วยสายรัดข้อมือ Snap ที่มีการลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน

นอกจากนี้ยังส่งเสริมสังคมไร้เงินสดด้วยการให้ผู้ที่มี Snap สามารถเติมเงินเข้าไปใช้งานภายในบริเวณสนามได้ด้วยจากทั้งตู้บริการอัตโนมัติและจุดเติมเงินต่างๆช่วยให้ผู้ที่เข้ามาใช้งานสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น


ถัดมาในกลุ่มของระบบเชื่อมต่อรถยนต์อัจฉริยะ iSmart ที่กลุ่มทรูนำเข้าไปให้บริการในรถยนต์ MG ทั้งเรื่องของการสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทยระบบสั่งงานด้วยหน้าจอสัมผัสที่เชื่อมต่อให้ผู้ใช้ควบคุมการทำงานผ่านแอปพลิเคชัน


ในกลุ่มของอสังหาริมทรัพย์ทางอนันดาก็เริ่มนำเทคโนโลยีไปใช้ในสมาร์ทโฮมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับ High End อย่างการทำระบบซิเคียวริตี้และ Home Automation ช่วยให้สามารถเข้าไปดูกล้องวงจรปิดภายในบ้านสั่งปิด-เปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม IoT

สุดท้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 นี้คือการที่กลุ่มทรูจะเปิดให้บริการ True Digital Park ซึ่งจะเป็นเสมือน Smart City ย่อมๆเลยทีเดียวภายในจะมีการนำระบบทั้งระบบจอดรถอัจฉริยะ (Smart Parking) ระบบควบคุมไฟอัจฉริยะ (Smart Lighting) ป้ายอัจฉริยะ (Smart Signage) กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ (Smart Camera) ออฟฟิศสมัยใหม่ (Smart Office) และหุ่นยนต์อัจฉริยะ (Service Robot) เพื่อแสดงถึงระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์แบบ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ True IoT ได้ที่ Website : http://trueiot.truecorp.co.th/และ Facebook Fanpage : TrueIoT


กำลังโหลดความคิดเห็น