“คมนาคม” ระดมสมองจากบริษัทที่ปรึกษาการเงิน วางรูปแบบจัดตั้ง “องค์กรพิเศษ” บริหารรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน “ไพรินทร์” นัดส่งการบ้าน 1 เดือน เล็งองค์กรที่คล่องตัวสูงอิสระจากรถไฟ และพร้อมระดมทุนในตลาดหากจำเป็น เพื่อลดภาระงบประมาณ
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่ากากระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ว่าได้เชิญบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินจำนวน 8 ราย ร่วมประชุมเพื่อขอให้ช่วยระดมสมองในการจัดทำกรอบแนวคิดการจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูง ในโครงการความร่วมมือ ร่วมมือระหว่างไทย-จีน โดยให้เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัว มีอิสระ จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
โดยองค์กรดังกล่าวนอกจากบริหารรถไฟความเร็วสูงแล้วยังจะต้องมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วย ขณะที่รถไฟความเร็วสูงใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้น องค์กรบริหารจะต้องมีประสิทธิภาพและคล่องตัว ซึ่งคาดว่าจะมีหลายรูปแบบ หลายไอเดีย โดยให้เวลา 1 เดือนในการศึกษาและและนำเสนอไอเดียต่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละรูปแบบ และเลือกรูปแบบที่ดีที่สุดต่อไป
“เบื้องต้นความเป็นเอกชนจะได้ในแง่ของความอ่อนตัว สามารถรองรับเทคโนโลยีได้ และหากต้องการลดภาระด้านงบประมาณในอนาคต องค์กรควรจะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยหรือไม่ และกรณีมีหน่วยงานรัฐถือหุ้นควรเป็นหน่วยงานใด สัดส่วนเท่าไหร่ และมีเป้าหมายทางเงินเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น”
สำหรับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์, บมจ.ธนาคารกสิกรไทย, บมจ.ธนาคารยูโอบี, บจก.เพลินจิต แคปปิตอล, บมจ.บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย), บจก.บล.ฟินันซ่า, บจก.อวานการ์ด แคปปิตอล และ บจก.ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ เอฟเอเอส
ทั้งนี้ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 อนุมัติให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วง กรุงเทพ-นครราชสีมา) และให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดตั้งองค์กรพิเศษที่เป็นอิสระจากการกำกับการของ ร.ฟ.ท.เพื่อดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพ โครงสร้างองค์กรมีความคล่องตัวในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง