กรมทางหลวงเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุน (Market Sounding) ก่อนเปิด PPP มอเตอร์เวย์ “หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย” วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท คาดชง ครม.ปลายปีนี้ เปิดให้บริการปี 65 เพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย (M84) ระยะทาง 62.60 กม. วงเงินลงทุน 5.7 หมื่นล้านบาท เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มนักลงทุน สมาคมการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การสรุปแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุน
นายอาคมกล่าวว่า จะสามารถนำเสนอโครงการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในปลายปี 2561 แน่นอน และจะก่อสร้างในปี 2562 แล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2565 ซึ่งโครงการมอเตอร์เวย์สายนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรลงสู่ภาคใต้และเพิ่มมูลค่าการค้าบริเวณด่านชายแดนภาคใต้ จากปริมาณการจราจรวันละกว่า 20,000 คัน เพิ่มขึ้นถึงวันละกว่า 46,000 คัน และในปีที่ 30 ของการเปิดให้บริการจะสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 2,145 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนนั้น เบื้องต้นกรมทางหลวงได้แบ่งขอบเขตการลงทุนออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เอกชนเป็นผู้ออกแบบ จัดหาแหล่งเงินทุน และก่อสร้างโครงการทั้งหมด โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน ระยะที่ 2 เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาทั้งโครงการตลอดระยะเวลาสัญญา โดยกำหนดกรอบระยะเวลาร่วมทุนไม่เกิน 33 ปี แบ่งเป็นระยะออกแบบและก่อสร้างโครงการ 3 ปี และระยะเวลาดำเนินงานและบำรุงรักษาไม่เกิน 30 ปี
โครงการประเมินปริมาณจราจรเฉลี่ยประมาณ 20,910 คัน/วัน ในปีที่เปิดให้บริการ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 46,050 คัน/วัน ในปีที่ 30 สามารถสร้างรายได้ถึง 478 ล้านบาท/ปี ในปีที่เปิดให้บริการ และเพิ่มขึ้นเป็น 2,145 ล้านบาท/ปี ในปีที่ 30 ตามลำดับ
การร่วมลงทุนดังกล่าวเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนเปิดประตูเศรษฐกิจแห่งใหม่และเป็นโครงการเร่งด่วนของแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี ในแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2561 การแก้ปัญหาสภาพจราจรทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียที่หนาแน่น และคับคั่งมากขึ้นจากการก่อสร้างด่านสะเดา แห่งที่ 2 และการขยายด่านบูกิต กายู ฮิตัม มาเลเซีย สนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมการลงทุนนำความรู้ และเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ พัฒนาโครงการอย่างเต็มประสิทธิภาพ
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย เป็นโครงการเร่งด่วนภายใต้แผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี ซึ่งการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่นั้นจำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เงินลงทุน และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการจึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้การเดินทางระหว่างตัวเมืองหาดใหญ่กับด่านชายแดนไทย-มาเลเซียมีความสะดวก รวดเร็ว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างไทยกับมาเลเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ประมาณ กม.1242+135 บริเวณอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา มีแนวสายทางมุ่งหน้าลงด้านทิศใต้ และมีจุดสิ้นสุดโครงการ (กม.62+596) ที่ชายแดนไทย-มาเลเซียบริเวณที่ตั้งของด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา รวมระยะทางประมาณ 62.60 กิโลเมตร โดยบริเวณ กม.11+630 จะมีแนว Spur Line ระยะทาง 7.83 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางสู่ท่าอากาศยานหาดใหญ่และทางหลวงหมายเลข 4135 ส่วนการออกแบบจะเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร มีการควบคุมทางเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีด่านเก็บค่าผ่านทางด้วยระบบปิดทั้งหมด 4 ด่าน โดยโครงการมีที่พักริมทาง 1 แห่ง คิดอัตราค่าผ่านทางแรกเข้าเริ่มต้น 10 บาท และคิดตามระยะทางอีกกิโลเมตรละ 1.25 บาท