สนข. ประเมินปี 67 รถไฟฟ้าเปิดให้บริการครบ 10 สาย เพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะเป็น 50% ซึ่งปัจจุบันมีแค่ 30% จากปริมาณการเดินทางกว่า 32 ล้านเที่ยว-คน/วัน เร่งอัปเดตฐานข้อมูลการเดินทางและการขนส่งสินค้า ทำแบบจำลองและสำรวจความต้องการเพื่อประกอบการจัดเม็ดเงินลงทุนโครงการ
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาสำรวจความต้องการการเดินทาง (Travel Demand Survey) และปรับปรุงฐานข้อมูลการเคลื่อนย้ายสินค้า เพื่อการวางแผนระบบขนส่งของประเทศ ว่า การศึกษาทบทวนแผนดังกล่าว มีจัดทำแบบจำลองการขนส่งให้ทันสมัย สอดคล้องกับสภาพและความต้องการและพฤติกรรมการเดินทางที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลที่แม่นยำในการใช้ประกอบการตัดสินใจ กำหนดแผนการลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่คุ้มค่ามากที่สุด
โดยได้จัดทำแบบจำลองใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การจำลองการขนส่งและจราจรระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (eBUM) รูปแบบที่ 2 คือ แบบจำลองระดับประเทศ (NAM) เพื่อใช้วิเคราะห์ปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้าในแต่ละรูปแบบ ซึ่งจะสรุปการศึกษาได้ในเดือน พ.ค. นี้ และรายงานกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ทุกหน่วยงานนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนโครงการต่างๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ในกรุงเทพมหานคร มีประชากรรวมกว่า 10 ล้านคน มีปริมาณการเดินทางทุกระบบรวมกว่า 32 ล้านเที่ยว-คน/วัน โดยเป็นการใช้รถส่วนบุคคลทุกประเภท 70% (รถยนต์ส่วนตัว 40%, รถจักรยานยนต์ 24% ,รถจักรยาน และเดิน 6%) ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ 30% หรือประมาณ 9 เที่ยว (รถไฟฟ้า 1.2%, ขสมก 20%,รถตู้ 2.7%,แท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง 4.6%, รถโรงเรียนรถรับส่งพนักงาน 2%) ซึ่งสัดส่วนของการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันขีดรองรับมีจำกัด อาจต้องเพิ่มความถี่ และเพิ่มตู้ เพื่อรองรับ
โดยขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 (M-Map) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าสายสีแดงจะเปิดให้บริการปี 2564 และครบทั้ง 10 สาย ในปี 2567 จะทำให้การเดินรถด้วยระบบขนส่งมวลชนเพิ่มเป็น 50% แต่ทั้งนี้จะต้องมีมาตรการระบบตั๋วร่วม และปฏิรูปรถเมล์ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการ และพิจารณาโมเดลคิดค่าเข้าพื้นที่กรุงเทพชั้นในสำหรับรถส่วนบุคคล เหมือนต่างประเทศ เพื่อลดการใช้รถส่วนตัวต่อไป เนื่องจากคาดการณ์ว่าในปี 2585 ปริมาณการเดินทางในกรุงเทฯและปริมณฑลจะเพิ่มเป็น 50 ล้านเที่ยว-คน/วัน
“ข้อมูลที่แม่นยำ จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาเลือกระบบขนส่ง และการจัดทำโครงการต่างๆ ที่เหมาะสมและตอบสนองความต้องการมากที่สุด อีกทั้งจะทำให้ใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่า”