ผู้จัดการรายวัย360 - “ทีวีบูรพา” ขยับปีก ผุด “มีเดียเอเยนซี่” เสริมทัพฝ่ามรสุมทีวีดิจิทัล หลังลูกค้าเมินคอนเทนต์สารคดี กระทบเรตโฆษณาลดลง 6 เท่า ปักธงปี 61 ชู 3 ธุรกิจสร้างแกร่ง ดันรายได้สู่ 280 ล้านบาทในสิ้นปี โตขึ้นเกือบเท่าตัว
นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ประธานบริษัท บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังจากอุตสาหกรรมทีวีเข้าสู่ทีวีดิจิทัล ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะ 2 รายการ คือ ฅนค้นฅน และ กบนอกกะลา ซึ่งเป็นรายการประเภทสารคดี ถือเป็นคอนเทนต์กลุ่มแรกที่ลูกค้าจะตัดงบโฆษณาลง ยิ่งปัจจุบันคอนเทนต์ละครยังมีเรตติ้งไม่ดี โฆษณาน้อย กลุ่มสารคดียิ่งได้รับผลกระทบมากกว่า จากก่อนเกิดทีวีดิจิทัล เคยมีเรตโฆษณาสูงสุดกว่า 3 แสนบาทต่อนาที ปัจจุบันเหลือ 5 หมื่นบาทต่อนาที หรือลดลง 6 เท่า ขณะนี้ยอดโฆษณาจากที่เคยขายได้เต็มปัจจุบันขายได้แค่ 20%
ส่งผลให้หลังเกิดทีวีดิจิทัลมา 2 ปี บริษัทฯได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา มีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจใหม่ และเริ่มกลับมาเห็นกำไรในปีก่อน ซึ่งมองว่าแผนที่วางไว้ดำเนินมาถูกทาง ดังนั้น ในปีนี้ทางบริษัทฯพร้อมวางตัวเองเป็นคอนเทนต์โซลูชันโดยยังมีดีเอ็นเอของความเป็นทีวีบูรพาอยู่
นายชนวัฒน์ วาจานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของทีวีบูรพาจะมุ่งกระจายความเสี่ยงมากขึ้นและเตรียมตัวรับมือกับอนาคต ภายใต้การวางตัวเองเป็นคอนเทนต์โซลูชัน กับ 5 กลุ่มธุรกิจ คือ คอนเทนต์ 2 รายการหลัก กับ รายการฅนค้นฅน และ กบนอกกะลา, มีเดีย, IMC, Digital และ บิซิเนส ดีเวลอปเม้นท์ หรือตลาดต่างประเทศ ล่าสุด ในปี 2561 นี้ ยังได้เปิดตัวบริษัทลูก คือ ทีวีบูรพาพลัส ดูแลธุรกิจคอนเทนต์เอเจยซี และได้ รถยนต์ BMW เป็นลูกค้ารายแรกที่บริษัทฯได้ดูแลการวางแผนใช้สื่อแบบครบวงจร
“เดิมธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ คือ คอนเทนต์ และ IMC แต่ในปีนี้จะเน้น 3 ธุรกิจ คือ ดิจิทัล, ต่างประเทศ และ เอเยนซี่ เพราะมีโอกาสเติบโตสูง ส่งผลให้ขณะนี้บริษัทฯมี 6 หน่วยธุรกิจ ซึ่งมองว่าธุรกิจเอเยนซี่มีโอกาสเติบโตมากที่สุด หรือสิ้นปีนี้ ทีวีบูรพาพลัสน่าจะมีรายได้ 50 - 80 ล้านบาท ส่วน 5 ธุรกิจเดิม คาดว่า จะทำได้ 200 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 250 - 280 ล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 150 ล้านบาท โตเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว”
นายชนวัฒน์ กล่าวต่อว่า กลุ่มธุรกิจคอนเทนต์ 2 รายการ แม้รายได้โฆษณายังทำได้น้อยลง แต่ทางบริษัทฯได้บริหารเพิ่มรายได้ในส่วนอื่นเข้ามา เช่น ช่องทางดิจิทัล ซึ่งในธุรกิจดิจิทัลมุ่งในเรื่องของการทำไวรัลวิดีโอให้กับลูกค้า ดูแลเพจ ซึ่งมีกว่า 15 ราย ซึ่งยังคงให้ความสำคัญการทำคอนเทนต์ในลักษณะรับจ้างผลิต จากเดิมมี 1 รายการ คือ คนมันส์อาสา โดยกำลังเจรจาทำโปรเจกต์ใหม่กับทีวีดิจิทัลช่องหนึ่งอยู่ ไม่ต่ำกว่า 4 - 5 เรื่อง
ส่วนธุรกิจต่างประเทศ ปีนี้ถึงปีหน้าจะมีโปรเจกต์ใหม่ร่วมกับทางพันธมิตรที่อังกฤษ และญี่ปุ่น รวม 2 โปรเกจต์มูลค่าการลงทุนกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้การพัฒนาคอนเทนต์จะโฟกัสตลาดต่างประเทศมากขึ้นโดยจะต้องสามารถนำออกอากาศในไทยและต่างประเทศได้ โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่า รายได้ต่างประเทศปีนี้จะอยู่ที่ 5 ล้านบาท ส่วนดิจิทัล 10 ล้านบาท IMC 90 ล้านบาท คอนเทนต์ 60 ล้านบาท และ มีเดีย 35 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 200 ล้านบาท