xs
xsm
sm
md
lg

สินค้าบิวตี้ในไทย 5.7 หมื่น ล.ยังรุ่ง เปิดหลากกลยุทธ์รุกตลาดชิงแชร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) หรือ KWP
ผู้จัดการรายวัน360 - กันตาร์ฯ เผยตลาดเครื่องสำอางและความงามไทยยังมีช่องว่างโตได้อีกมาก จากจุดปัจจุบันอยู่ระยะเริ่มแรกในระดับ 48% เกาหลีนำหน้าไปสู่ 85% กลุ่มดูแลผิวหน้า กินสัดส่วนสูงสุดถึง 40% ต่อตลาดรวม รองลงมาได้แก่ กลุ่มแฮร์ แคร์ กลุ่มเมกอัพ และ กลุ่มบอดี้ แคร์ ในสัดส่วน 33%, 16% และ 11% ตามลำดับ

บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) - Kantar Worldpanel (Thailand) หรือ KWP ผู้นำด้านการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึก ที่มีความเชี่ยวชาญในกลุ่มสินค้าอุปโภค - บริโภค ที่มีอัตราการหมุนเวียนสูง หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) โดย
นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) หรือ KWP ผู้นำด้านการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึก ที่ในกลุ่มสินค้าอุปโภค - บริโภค ที่มีอัตราการหมุนเวียนสูง หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ได้เปิดเผยถึงรายงานผลวิจัยล่าสุด ชุด “ตลาดเครื่องสำอางและความงาม - ไทย” (Thailand Beauty Market) ซึ่งข้อมูลวิจัยชุดนี้ เป็นผลสรุปภาพรวมตลาดความงาม การรู้และเข้าใจถึงพฤติกรรมและความต้องการ ตลอดจนแนวโน้มตลาด ของกลุ่มเป้าหมาย และ ตลาดเป้าหมาย เพื่อให้สามารถวางกลยุทธ์เจาะตลาดได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ ยังได้แสดงให้เห็นถึงทิศทางและอนาคตของตลาดเครื่องสำอางและความงามไทย นับว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเจ้าของแบรนด์สินค้า นักการตลาด และ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เป็นอย่างยิ่ง
นายอิษณาติ เปิดเผยว่า “ตลาดความงามของไทย เป็นตลาดที่น่าสนใจและศักยภาพในการเติบโตอย่างยิ่ง จากสถิติภาพรวมของตลาด มีมูลค่าสูงถึง 57,000 ล้านบาท (ห้าหมื่นเจ็ดพันล้านบาท) นับเป็นการเติบโตในอัตรา 3.8% ในปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลวิจัยชุดนี้ ได้ทำการศึกษาเจาะลึกของกลุ่มสินค้าเครื่องสำอางและความงาม ใน 4 กลุ่มย่อย พร้อมอัตราการเติบโต ดังนี้
1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผมและศีรษะ (Hair Care)เติบโตในอัตรา 0.8% 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์บอดี้ แคร์ (Body Care) 3.5% 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า (Face Care)4.5% 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์เมกอัพ (Make Up)16%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนต่อมูลค่าตลาดรวมของกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม จะเห็นว่า สินค้ากลุ่มดูแลผิวหน้า หรือ Face Care เป็นสัดส่วนสูงสุด ถึง 40% ต่อตลาดรวม รองลงมาได้แก่ กลุ่ม แฮร์แคร์ กลุ่มเมกอัพ และ กลุ่มบอดี้แคร์ ในสัดส่วน 33%, 16% และ 11% ตามลำดับ โดยกลุ่ม บอดี้แคร์ จะมีสัดส่วนต่ำสุด

เป็นที่น่าสังเกตสำหรับตลาดเมกอัพ โดยจากข้อมูลวิจัยพบว่า สินค้าหลักที่ผลักดันต่อการเติบโตของกลุ่มเมกอัพ คือ สินค้าประเภทที่ต้องใช้เป็นประจำ คือ ดินสอเขียนคิ้ว รองพื้น และ ลิปสติก ทั้งนี้ เป็นการเติบโตของยอดขายจากผู้ซื้อปัจจุบัน เป็นสถิติ 74% ตลอดจนการขยายตัวของผู้ซื้อรายใหม่ อีก 4% โดยเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในเขตตัวเมืองเป็นส่วนใหญ่ โดยการเติบโตนี้เกิดจากปัจจัยของการซื้อที่ตอบสนองด้านอารมณ์ ที่สามารถเพิ่มความมั่นใจให้ตนเอง ยิ่งกว่านี้ สินค้ากลุ่มเมกอัพ ยังมีช่องว่างให้เติบโตไปได้อีกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดความงาม อย่างประเทศเกาหลี ที่สามารถเจาะตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ถึง 85% .ในขณะที่ประเทศไทย อยู่ในตำแหน่ง 48% ในปัจจุบัน

ยิ่งกว่านี้ การใช้กลยุทธ์การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่วาไรตี้ ให้ครอบคลุมความต้องการ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น จะเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทการล้างเครื่องสำอาง (Make Up Remover) และ ประเภทมาส์กหน้า (Mask) ก็เป็นสินค้าที่มีความนิยมมากขึ้นตามลำดับ นับเป็น ตัวส่งผลต่อยอดขายได้ถึง 14% และ 12% สำหรับ Make up Remover และ Mask หน้า เลยทีเดียว ยิ่งกว่านี้ จะเห็นว่าคนไทยมีพฤติกรรมด้านความงามที่เปลี่ยนไป ให้ความสำคัญกับการดูแลผิวหน้ามากขึ้น ด้วยการเพิ่มขั้นตอนในการดูแล ดังจะเห็นได้ชัดเจนที่มีกลุ่มสกินแคร์ เกิดขึ้นมากมายตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันปี 2560

เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีผลต่อการเติบโตของตลาดรวมของผลิตภัณฑ์ความงาม แล้ว จะสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ กลุ่ม Gen Z, กลุ่ม Millennials กลุ่ม Gen X และ กลุ่ม Baby Boomer จะเห็นว่า กลุ่ม Millennials หรือ กลุ่มคนที่มีอายุ 23 - 39 ปี ซึ่งอยู่ในวัยเริ่มทำงานจะเป็นกลุ่มหลักที่ยึดครองสัดส่วนถึง 43% ต่อยอดขายโดยภาพรวม ทั้งในแง่ของมูลค่า และ ปริมาณ โดยที่กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น จะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของตลาด

เมื่อพิจารณาในแง่ของกำลังซื้อและเบรนด์ที่เลือกใช้ ระหว่างผลิตภัณฑ์ที่เป็น Mass Brand และ พรีเมี่ยม แบรนด์ อย่างเช่น มิสทิน (Mistene) การ์นีเย่ (Garnier) พอนด์ส (Ponds) นีเวีย (Nivea) โอเลย์ (Olay) และ ระดับพรีเมียม ลอรีอัล Artistry Smooth E Oriental Princess ผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อโดยเฉลี่ย สำหรับสินค้าความงามประเภท Mass Brand เป็นจำนวน 176 บาท ในปริมาณ 100 ml และ เฉลี่ย 536 บาท ในปริมาณ 100 ml สำหรับ พรีเมียม แบรนด์

นายอิษณาติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “จากการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในผลิตภัณฑ์กลุ่มความงาม แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์สำคัญที่เจาะให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องเป็นกลยุทธ์ที่สามารถผนวกรวมระหว่าง โลกของยุคดิจิทัล - สังคม และ ธุรกิจ ที่เป็นหนึ่งเดียว การนำกลยุทธ์ Micro Influencer มาใช้อย่างถูกต้อง และ เข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคด้านความงามในปัจจุบันอย่างถ่องแท้ ว่ามีความต้องการผลิตภัณฑ์ความงามที่เป็นการป้องกัน หรือ ประเภท Anti-Aging มากกว่าต้องการการแก้ไข ผู้บริโภคปัจจุบัน มีความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภท สวยเร่งด่วน และต้องการความสะดวกสบาย เป็นสูตรสำเร็จแบบ ออล-อิน-วัน เน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเป็นสินค้าที่มีเรื่องราว มีความเป็นมา และ อยู่ในยุคสมัย

สำหรับทิศทางและอนาคตของผลิตภัณฑ์กลุ่มความงามสำหรับตลาดในประเทศไทยนั้น จากข้อมูลวิจัยและการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นถึงสถานะและปัจจัยต่อตลาดไทย ดังนี้ ตลาดความงามของประเทศไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นในวงจรของการเติบโต ซึ่งทำให้มีโอกาสเติบโตไปได้อีกมาก การเข้ามาของแบรนด์ดังและแบรนด์พรีเมียม จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของตลาดไทย นอกจากนี้ ช่องทางออนไลน์ เป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญยิ่ง ในอนาคตหัวใจสู่ความสำเร็จในการยึดครองตลาดเป้าหมาย คือ “การแชร์” “อัปเกรด” และต้องออนไลน์

โดย กันตาร์ฯ ชี้ให้เห็นถึงหัวใจของการเจาะตลาดเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้ประกอบการ หรือ แบรนด์สินค้าจะต้องพัฒนาสินค้าและสร้างสรรค์แคมเปญที่โดนใจ และมีอิทธิพลที่จะทำให้เกิด แชร์ทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์และเรื่องราวของสินค้านั้นๆ ไปยังเพื่อนฝูง อย่างกว้างขวาง โดยหัวใจหลักในการชนะใจกลุ่มเป้าหมาย และ ยึดครองตลาดเป้าหมาย ที่ต้องคำนึงถึง คือ “การแชร์ “อัปเกรด” และ ต้องอยู่บน “โลกออนไลน์” นายอิษณาติ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น