xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.แนะวิธีดูผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอม ชงเพิ่มโทษหลังพบมีอีกเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส.อ.ท.หารือ “อย.” เพื่อเพิ่มบทลงโทษผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมปลอมที่มีส่วนของยาผสมให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต เพื่อป้องกันเหตุพบตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมูลค่ากว่าแสนล้านบาท 40% เป็นของปลอมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม แนะประชาชนและดาราเช็กของแท้ให้ดู อย.ชื่อตรงกับฉลากหรือไม่ และกรณีนำเงินมากองเป็นพร็อพเพื่อให้เชื่อถือส่วนใหญ่ไม่มีคุณภาพ




นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับตำรวจกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคก.) ได้ปฏิบัติการจับกุมผู้ประกอบการชื่อดังที่ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมาย โดยลักลอบใส่สารอันตรายต่างๆ ลงไปในผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังจ้างนักแสดงที่มีชื่อเสียงร่วมโฆษณาสินค้าจำนวนมาก ว่า ขณะนี้กลุ่มฯ อยู่ระหว่างหารือกับ อย.ที่จะให้การพิจารณาตีความผิดกรณีจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอมที่มีส่วนผสมของยา เช่น ไวอะกร้า Viagra ไซบูทรามีน (สารตั้งต้นยาบ้า) ฯลฯ เป็นความผิดขายยาปลอมแทนการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอม เพราะฐานความผิดจะเพิ่มขึ้น เช่น อาจให้จำคุกตลอดชีวิต จากเดิมความผิดโทษฐานขายยาปลอม ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3-10 ปี แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป

สำหรับแนวทางการป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ไม่ได้คุณภาพนั้น ได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการดำเนินการขอใบอนุญาตการผลิตสินค้าเสริมอาหารอย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้มาตรฐานตามที่กำหนด รวมถึงให้ผู้บริโภคตรวจสอบเลขทะเบียน อย.ก่อนการซื้อสินค้า โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบการที่มีการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง อย.ได้ที่เว็บไซต์ ส.อ.ท. www.fti.or.th

“ถ้าจะดูโรงงานไหนได้มาตรฐานก็ให้ดูใน อย.และเว็บไซต์ ส.อ.ท.วิธีดูง่ายๆ คือคีย์เลข อย.เข้าไปก็จะขึ้นชื่อ ถ้าไม่ตรงกับฉลากมีปัญหาแน่นอนก็คือผลิตภัณฑ์ปลอมและฉลากเขียนเกินความเป็นจริง เช่น อย.บังคับใช้ซูเปอร์สลิมไม่ได้แต่บางทีไปเขียนในฉลากอีกชื่อหนึ่งแต่ใช้เลข อย.จริงก็มี” นายนาคาญ์กล่าว

นอกจากนี้ ให้ข้อสังเกตในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และการรับเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์ว่า หากเป็นผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพมักมีการนำเงินจำนวนมากมากองเป็นพร็อพเพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ ผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ผู้บริโภคหรือผู้ที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายควรหลีกเลี่ยง และการเลือกซื้อประชาชนควรตรวจสอบทะเบียน อย.ก่อน หากพบว่าไม่ถูกต้องให้แจ้ง อย. เพราะการตื่นตัวของผู้บริโภคจะทำให้ผู้ประกอบการที่ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานเกรงกลัวความผิด

“ยอมรับว่ากรณีการจับกุมเครือข่ายเมจิกสกินส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในประเทศไทยได้รับผลกระทบทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อถือต่ำลง กรณีดารานักแสดงที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปัจจุบันมี 2 กรณี คือ กรณีแรกดารารับเป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งกรณีนี้มีโทษไม่รุนแรงและอาจตกเป็นเหยื่อได้ อีกกรณีคือ ดาราเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากการเข้าไปตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีผลิตภัณฑ์ของดาราบางตัวใส่สารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นยาบ้าเพื่อลดน้ำหนัก หรือใส่สารปรอทเพื่อให้ผิวขาว ขณะที่ผลิตภัณฑ์กาแฟบางยี่ห้อมีส่วนผสมไวอะกร้าของจีน และสารออริสแตท เพื่อดักจับไขมัน” นายนาคาญ์กล่าว

สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดเกือบ 100,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมมีมูลค่าตลาดประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยผลิตภัณฑ์ในตลาด 40% เป็นผลิตภัณฑ์ปลอมที่มีการผลิตไม่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทื่ได้คุณภาพ ช่วงกลางปีนี้สถาบันรหัสสากล หรือ GS1 Thailand หน่วยงานภายใต้สังกัด ส.อ.ท.จะเปิดให้ผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเข้ามาใช้ตราสัญลักษณ์ที่ใช้เทคโนโลยี Dragon Code เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะผลิตภัณฑ์ปลอมจากท้องตลาดได้


กำลังโหลดความคิดเห็น