xs
xsm
sm
md
lg

อย.แจง 7 ดาราพรีเซ็นเตอร์ “เมจิกสกิน” จ่อถูกหมายเรียก เหตุโฆษณาไม่ขออนุญาต-โอ้อวดเกินจริง รับค้นเลข อย.อาจไม่รู้ว่าปลอม!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. เผย 7 ดาราพรีเซ็นเตอร์ “เมจิกสกิน” จ่อถูกหมายเรียก เหตุโฆษณาผิดกฎหมาย ทั้งไม่ขออนุญาตและโอ้อวดเกินจริง ระบุ ยังมีดาราอยู่ในลิสต์ ตร. อีกกว่า 50 ราย ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แจงให้เลข อย. “เครื่องสำอาง” ง่าย เพราะ กม. ให้แค่กำกับดูแลการจดแจ้ง ไม่ได้ควบคุมเหมือนยา ชี้ อย. ต่างประเทศ ก็แค่จดแจ้ง รับตรวจเลข อย. อาจไม่รู้ว่าเป็นของปลอม เหตุผู้ค้าปลอมฉลากให้ตรงได้

ความคืบหน้ากรณีการเอาผิดผลิตภัณฑ์ “เมจิกสกิน” ซึ่งมีรายงานว่า ทางตำรวจจะมีการออกหมายเรียกศิลปินดาราล็อตแรกจำนวน 7 คน ที่เป็นพรีเซ็นเตอร์หรือรีวิวให้แก่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในฐานะตัวการร่วม ได้แก่ ลีเดีย ศรัณย์รัชต์ ดีน, แพทตี้ อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา, มาร์ช - จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล, ไอซ์ อภิษฎา เครือคงคา, วุ้นเส้น - วิริฒิพา ภักดีประสงค์, ดีเจพุฒิ - พุฒิชัย เกษตรสิน, ม้า - พรชัย หรือ อรนภา กฤษฎี

วันนี้ (25 เม.ย.) ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ศิลปินดาราทั้ง 7 คน ที่ทางตำรวจอาจมีการออกหมายเรียกเป็นล็อตแรก เนื่องจาก อย. มีข้อมูลชัดเจนว่า กระทำการโฆษณาที่ผิดกฎหมายที่ อย. ควบคุมดูแล ทั้งในเรื่องของโฆษณาอาหารเสริมโดยไม่ขออนุญาต ตาม พ.ร.บ. อาหาร หรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ซึ่งมีทั้งประเด็นเรื่องของผิวขาวใส การลดสัดส่วน เป็นต้น จึงได้รวบรวมส่งข้อมูลให้แก่ทางตำรวจในการออกหมายเรียกมาดำเนินการสอบสวน ส่วนศิลปินดาราคนอื่นที่กระทำผิดก็ยังมี ซึ่งอยู่ในลิสต์ของทางตำรวจแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยในตอนนี้ได้ เท่าที่มีข้อมูลออกไปก่อนหน้านี้ก็คือประมาณ 50 กว่าคน สำหรับการหารือร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องการดำเนินการเอาผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เมจิกสกิน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะดำเนินการอะไรต่อบ้าง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีประชาชนมองว่ามีการให้เลขทะเบียน อย. แก่อาหารเสริมและเครื่องสำอางง่ายจนเกินไป ทำให้เกิดปัญหาผลิตภัณฑ์ปลอม ภก.สมชาย กล่าวว่า ตรงนี้ต้องชี้แจงว่า ในเรื่องของความปลอดภัย ผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน โดยเครื่องสำอางตัวกฎหมายเป็นเรื่องของการกำกับดูแล ลักษณะของการออกหลักเกณฑ์จึงเป็นเรื่องการจดแจ้ง คือ มาจดแจ้งว่าผลิตอะไร สูตรส่วนประกอบอะไร ถ้าผ่านเกณฑ์ก็จะรับจดแจ้ง จากนั้นจะใช้กระบวนการตรวจสอบในภายหลัง ส่วนอาหารจะมีหลายระดับ ทั้งระดับขึ้นทะเบียน ระดับแจ้งข้อเท็จจริง หรือแค่จดแจ้ง สำหรับยาจะต้องขึ้นทะเบียนอย่างเดียวและตรวจสอบควบคุมเข้มงวด

เมื่อถามว่าอาหารเสริมและเครื่องสำอางควรมีกายกระดับตรวจสอบควบคุมก่อนให้เลข อย.หรือไม่ เนื่องจากปัญหาผลิตภัณฑ์ปลอม ลอบใส่สารอันตราย มีเป็นจำนวนมาก ภก.สมชาย กล่าวว่า การกระทำผิดเหล่านี้เกิดจากผู้ประกอบการบางรายย่อยๆ เท่านั้น และก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการที่ทำถูกกฎหมายหรือทำได้ดี หากไปสร้างหลักเกณฑ์และยิ่งเข้มงวดกับการมาขอ ก็จะทำให้ผู้ผลิตเครื่องสำอางรายใหญ่หรือรายเล็กที่ทำถูกกฎหมายลำบากยิ่งขึ้น ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดส่งออกได้ ซึ่งจริงๆ แล้วการทำผิดเหล่านี้เป็นเรื่องของคนที่ใช้ช่องทางมาทำเรื่องไม่ถูกต้อง ทุจริต แทนที่จะทำตามสูตรที่แจ้ง ก็ไปใส่สารตัวอื่นเข้าไป หรือจดแจ้งที่ไม่ใช่สถานที่ผลิตจริง

ผู้สื่อข่าวถามว่า อย. ของประเทศอื่นก็ใช้วิธีจดแจ้งเครื่องสำอางแบบเดียวกับไทยหรือไม่ ภก.สมชาย กล่าวว่า การจดแจ้งเครื่องสำอางแบบนี้ก็เป็นวิธีการที่ อย.นานาชาติดำเนินการกัน ทั้งในส่วนของยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ในอาเซียน ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกและไปตกลงหลักเกณฑ์ร่วมกัน ก็ใช้วิธีในการจดแจ้งเครื่องสำอางทั้งสิ้น

เมื่อถามถึงการตรวจสอบเลข อย. เองของประชาชนผ่านเว็บไซต์ อย. จะเห็นชัดเลยหรือไม่ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม ไม่มีการขออนุญาตจริง หรือมีการลอบผสมสารอันตราย ภก.สมชาย กล่าวว่า ตรงนี้ประชาชนอาจจะไม่ทราบ เพราะเลขที่จดแจ้งหรือที่อยู่ในการผลิตที่แสดงในระบบก็เป็นไปตามที่เขามาจดแจ้งไว้ ซึ่งหากเขาต้องการหลอกลวง เขาก็จะทำฉลากให้เป็นเลขที่จดแจ้งหรือที่อยู่เดียวกันกับที่แจ้งไว้ ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่าปลอมหรืออันตราย หากขายหรือโฆษณาค่อนข้างโอ้อวดเกินจริง ผู้บริโภคต้องระวัง เช่นเดียวกับคนที่จะไปรับโฆษณาให้เขายิ่งต้องระวัง เพราะหากโฆษณาอะไรที่เป็นเท็จโอ้อวดเกินจริง ก็จะมีความผิดด้วย ไม่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะถูกหรือผิดกฎหมายก็ตาม แต่หากผลิตภัณฑ์นั้น อย.ตรวจสอบพบว่าผิดกฎหมาย เช่น เครื่องสำอางเมจิกสกินตอนนี้ หากไปค้นดูในระบบของ อย.ก็จะแจ้งสถานะว่ามีการเพิกถอนออกไปแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น