“สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซล” วอนรัฐเร่งรัดขั้นตอนการประกาศใช้ B10 โดยเร็ว เพื่อเร่งแก้ปัญหาปาล์มตกต่ำ โดยพร้อมปรับสเปกไบโอดีเซลให้เหมาะกับเครื่องยนต์ตามที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นต้องการ เตือนหากไม่มีมาตรการดูดซับ CPO เชื่อว่าสิ้นปีนี้ทะลุ 5.6 แสนตัน
นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ พร้อมสนับสนุนนโยบายการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วน 7% หรือ B 7 เป็น B10 โดยขอให้รัฐเร่งชั้นตอนเพื่อประกาศการใช้ B10 โดยเร็วที่สุด หากรัฐไม่มีมาตรการใดๆออกมาดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในประเทศ เชื่อว่าสิ้นปีนี้สต๊อก CPO จะพุ่งไปถึง 5.6 แสนตัน จากเดือน ก.พ. 61 ที่มีสต๊อกCPO อยู่ที่ 4 แสนตัน กดดันต่อราคาผลปาล์มน้ำมันให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม
ทั้งนี้ ทางสมาคมฯพร้อมที่จะปรับคุณสมบัติของไบโอดีเซล (B100) ให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์โดยให้ค่ายรถยนต์แจ้งก่อนล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า รวมทั้งปรับโครงสร้างราคาไบโอดีเซลใหม่ให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้ราคา B10 เพิ่มขึ้นมากจนส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถ โดยต้นปีนี้ราคา CPO ในไทย ปรับตัวลดลงมาอยู่ใกล้กับผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียแล้วที่ 19 บาท/กิโลกรัม
ปัจจุบันไทยมีการใช้ B7 คิดเป็นความต้องการใช้ B 100 เฉลี่ย 4.2 ล้านลิตร/วัแต่ถ้ามีการประกาศใช้ B 10 จะทำให้ความต้องการใช้ B 100 เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านลิตร/วัน ซึ่งเป็นการช่วยดูดซับ CPO เพิ่มขึ้น 4.5 หมื่นตัน/เดือนหรือราว 5.4 แสนตัน/ปีเท่ากับปริมาณ CPO ส่วนเกิน ขณะที่ผู้ประกอบการไบโอดีเซลทั้ง 13 ราย มีความสามารถในการผลิตรวม 6.6 ล้านลิตร/วัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านลิตร/วันในปี 2561
ทั้งนี้ สูตรโครงสร้างราคาไบโอดีเซลเป็นเรื่องของภาครัฐที่ใช้อ้างอิงการซื้อขาย ล่าสุดอยู่ที่ 22-23 บาท/ลิตร แต่ราคาขายจริงในตลาดต่ำกว่านั้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการตัดราคาขายไบโอดีเซลอยู่ที่ 20 บาท/ลิตรซึ่งใกล้เคียงกับราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นที่ 17.63 บาท/ลิตร ดังนั้น ถ้ารัฐมีการบังคับใช้ B 10 จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นราว 20 สตางค์/ลิตร แต่เชื่อว่าผู้ผลิตไบโอดีเซล จะสามารถดูแลให้ราคา B10 ที่จำหน่ายหน้าสถานีบริการน้ำมันไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินระดับ 10 สตางค์/ลิตร ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภครับได้ เนื่องจากผู้ผลิตน่าจะสามารถผลิตไบโอดีเซลได้เพิ่มขึ้นทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลง
ด้านนายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอลจำกัด (มหาชน) (GGC) กล่าวว่า จากการที่บริษัทฯ ต้องซื้อน้ำมันปาล์มดิบที่ราคา 19 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ราคาขายไบโอดีเซลที่มีการแข่งขันในตลาดอยู่ที่ราว 20 บาท/ลิตรนั้น ส่งผลกระทบต่อมาร์จิ้นของการผลิตไบโอดีเซล หรือเมทิลเอสเทอร์ของบริษัท แต่การมีกลีเซอรีนเป็นผลพลอยได้ออกมาด้วยทำให้ยังสามารถทำกำไรได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงงานไบโอดีเซล แห่งที่ 2 ขนาด 2 แสนตัน/ปี ที่กำลังจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/61 นั้น ก็จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไบโอดีเซล เพิ่มเป็น 5 แสนตัน/ปี ดังนั้นบริษัทจะหันมาผลิตจากโรงงานแห่งที่ 2 ที่มีต้นทุนต่ำกว่าเป็นหลัก