ผู้จัดการรายวัน 360 - “คอนเทนต์ อีส คิง” บุพเพสันนิวาสฟีเวอร์ สู่วาระ “ออเจ้าแห่งชาติ” ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ทางรอดทีวีดิจิตอล ละครจบ-คนดูไม่จบ ฉีกตำราหารายได้แบบไม่มีลิมิต เล่นกันเป็นหมู่คณะ คาดกวาดรายได้ทะลุ 300 ล้านบาท
ปรากฏการณ์ “ออเจ้า” จากละครดังแห่งปี 2561 “บุพเพสันนิวาส” นอกจากจะช่วยชีวิตช่อง 3 จนนำมาสู่รายได้ทะลุ 250 ล้านบาทแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะมีรายได้เข้ามาอีกมาก
ผ่าโมเดล “ออเจ้า” รายได้ทะลุ 300 ล้าน
ด้วยการดำเนินเรื่องที่กระชับ เนื้อหาครบรส ถูกจริตคนดู และจบลงเพียง 15 ตอน จริงๆ ถือเป็นความยาวที่เหมาะสม แต่เนื่องจากความฟีเวอร์ยังดีต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสและช่องว่างที่สามารถนำมาต่อยอดรายได้หลังละครจบลงได้ กลายเป็นโมเดลการหารายได้รูปแบบใหม่ที่เหมาะสมในยุคโซเชียลมีเดีย โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1. การเพิ่มตอนพิเศษ 2. ต่อยอดโฆษณาหลังออกอากาศ
สำหรับรายละเอียดนั้นคือ 1. การเพิ่มตอนพิเศษ เป็นโมเดลการหารายได้ครั้งแรกของวงการทีวี ที่หลังละครจบทางสถานีฯ พร้อมให้เวลาเพิ่ม ส่วนสำคัญมาจากโฆษณาที่ตอบรับดีจนต้องหาวิธีเก็บรายได้ โดยด้านผู้จัดละครดัง “หน่อง อรุโณชา” จากค่ายบรอดคาซท์ ได้กล่าวไว้ว่า ละครบุพเพสันนิวาสจะไม่มีการเพิ่มตอน ยังคงไว้ที่ 15 ตอน และจะจบวันที่ 11 เมษายนนี้ แต่จะได้ชมเพิ่มอีก 3 ตอน ในรูปแบบการเล่าเรื่องใหม่ ทางสถานีฯ จะเป็นผู้ดูแลเอง โดย 3 ตอนใหม่นี้ไม่ได้เป็นการขยายเนื้อเรื่องเพิ่ม หรือเป็นการย่อ 15 ตอน ให้เหลือ 3 ตอน
ดังนั้น หากคอนเทนต์จากละครเรื่องนี้รวมแล้วมีทั้งหมด 18 ตอน จะมีรายได้มากกว่า 255 ล้านบาท โดยเป็นการคิดรายได้จากโฆษณาออนแอร์แบบเต็มเวลาที่ออกอากาศ 2.30 ชม.ต่อตอน และหารายได้โฆษณาได้เต็มที่ 31 นาที 15 วินาทีต่อตอน เบื้องต้นละครเรื่องนี้จะมีรายได้อยู่ที่ 255.9 ล้านบาท คิดจากราคาโฆษณาจริงของทางช่อง 3 ด้วยเรต 15 วินาที ราคา 113,750 บาท (ข้อมูลจาก jindamanee.co.th)
2. การต่อยอดโฆษณาหลังออกอากาศ ถือเป็นครั้งแรกเช่นกันที่เอเยนซีและเจ้าของสินค้าที่ต้องการเกาะกระแสละคร แต่ไม่สามารถลงโฆษณาได้ในขณะที่ออกอากาศ จึงทำให้เกิดโมเดลการต่อยอดโฆษณานอกเวลาออกอากาศเกิดขึ้น ในส่วนนี้เริ่มมีให้เห็นแล้วหลายแบรนด์ให้ความสนใจ เช่น 1. แบรนด์เอไอเอส ถือเป็นรายแรกที่ดึงเอานักแสดงและละครเรื่องนี้ มาสร้างเป็นคอนเทนต์ใหม่โดยมีการไทอิน (TIE IN) สินค้า นำเสนอผ่านสื่อโซเชียลฯ 2. แบรนด์ “มิสทิน” กับคอนเทนต์ “มิสทินสันนิวาส” ที่ใช้โมเดลนี้เช่นกัน
โดยทั้งสองแบรนด์ได้ชูตัวนักแสดงมาแบบเป็นหมู่คณะผ่านทางฝั่งนางเอกของเรื่อง เป็นครั้งแรกที่ใช้คอนเทนต์ละครนำ มากกว่าการดึงตัวเอกของเรื่องเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าอย่างที่ผ่านมา
ส่วนทางด้านพระเอกนั้น คือ “โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ” หรือหมื่นสุนทรเทวา (เดช) จากละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ฟาก “ทรู” ได้คว้าไปแล้ว ส่วนจะออกมาในรูปแบบพรีเซ็นเตอร์ หรือคอนเทนต์ ยังไม่มีรายงานออกมา เพราะทางทรูดึงมาใช้เป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์แบบทั้งองค์กร เชื่อว่ายังมีอีกหลายแบรนด์สนใจที่จะขอเกาะกระแส “ออเจ้า” เช่นกัน และรายได้ในส่วนนี้ต้องเข้าช่อง 3 เช่นกัน จากนำโมเดลบริหารศิลปินมาดูแลเอง
อย่างไรก็ตาม นอกจากการหารายได้นอกเวลาการออกอากาศแล้ว ยังมีรายได้อื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น จากสื่อออนไลน์ ที่ทางช่อง 3 มีอยู่หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์, แอปพลิเคชัน Mello, ไลน์, ไลน์ สติกเกอร์, ยูทูป รวมถึงการขายลิขสิทธิ์ในตลาดต่างประเทศ
นอกจากนี้ อาจจะมีการต่อยอดรายได้เพิ่มเติมอีก เช่น เมอร์ชันไดซ์ รวมแล้วรายได้นอกเวลาออกอากาศอย่างต่ำน่าจะทำได้ถึง 1 ใน 4 ของรายได้รวม หรือราว 50 ล้านบาท รวมแล้วละครเรื่องนี้น่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทเลยทีเดียว
จากปรากฏการณ์ “ออเจ้าแห่งชาติ” ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการจุดประกายความหวังให้วงการทีวีดิจิตอล โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ เพราะละคร “บุพเพสันนิวาส” ทำให้เห็นแล้วว่าการให้ความสำคัญและทำคอนเทนต์ออกมาแบบมีคุณภาพใส่ใจในทุกรายละเอียดและทุกขั้นตอน นำมาซึ่งความนิยม เรตติ้ง กระแส และการต่อยอดสร้างรายได้แบบลงตัวในยุคสื่อโซเชียลฯ มาแรง เป็นการเสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกันระหว่างสองสื่อ
สุดท้ายแล้ว รายได้ 300 ล้านบาท กับละคร 1 เรื่อง ไม่ใช่เรื่องเกินฝัน พลิกแนวคิดผู้จัดเรื่องใหม่ๆ นำไปเป็นต้นแบบ ยกระดับอุตสาหกรรมทีวีขึ้นไปอีกขั้น ตอกย้ำว่าทีวีดิจิตอลสามารถอยู่รอดได้จริงกับรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่าง “ออเจ้า”